อย. ร่วมกับ บก.ปคบ. จับกุมผู้ผลิตยาแก้ไอปลอมรายใหญ่ที่นครศรีธรรมราช ยึดของกลางกว่า 80 รายการมูลค่ากว่า 70 ล้านบาท

สืบเนื่องจากบริษัท เดอะเบสท์ 2018 ฟาร์มาซูติคัล จำกัด ผู้จัดจำหน่ายยาแก้ไอยี่ห้อ Diphenyl  (ไก่แดง) และ บริษัท แกรนด์ ฟาร์ม่า จำกัด ผู้จัดจำหน่ายยาแก้ไอยี่ห้อ Datissin (ฝาแดง)แจ้งความร้องทุกข์มีผู้ผลิตยาแก้ไอปลอม ออกจำหน่ายตามร้านขายยาเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจนทราบว่าแหล่งผลิตยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ Diphenyl รายใหญ่อยู่ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ใช้จุดกระจายสินค้าใน จ.ภูเก็ต หลังจากสืบทราบเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.)ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและสำนักงานสาธารณสุขพื้นที่นำหมายค้นสถานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและจำหน่ายยาแก้ไอปลอมดังกล่าว 11 จุด ในจ.นครศรีธรรมราช 9 จุด จ.ภูเก็ต 2 พบการต่อเติมบ้านพักอาศัยเป็นโรงงานผลิตยาแก้ไอปลอม และแบ่งสถานที่เก็บหลายจุดไม่ว่าจะเป็น  จุดเก็บขวดเปล่า จุดผสมวัตถุดิบ จุดบรรจุ จุดเก็บผลิตภัณฑ์ และจุดกระจายสินค้า และจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ 4 รายคือผู้ดูแล เจ้าของโรงงาน และผู้ดูแลด้านการเงินและจัดจำหน่าย โดยรตรวจยึดของกลางจากโรงงานผลิตในจ.นครศรีธรรมราชได้หลายรายการ ดังนี้

1. ยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ Diphenyl (ฝาไก่แดง) จำนวน 59,600 ขวด

2. ยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ Datissin (ฝาแดง) จำนวน 3,950 ขวด

3. ยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ K-cough จำนวน 1,600 ขวด

4. ยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ A-chlordyl จำนวน 1,600 ขวด

5. ยาแก้ไอยี่ห้ออื่น ๆ (ของจริง) จำนวน 7,220 ขวด

6. ขวดยาแก้ไอเปล่าที่รอการบรรจุ จำนวน 419,720 ขวด

7. เครื่องตอกปิดฝา จำนวน 2 เครื่อง

8. เครื่องบรรจุยา ขนาด 30 ลิตร จำนวน 2 เครื่อง

9. เครื่องติดฉลาก จำนวน 3 เครื่อง

10. เครื่องปั๊มลม จำนวน 2 เครื่อง

11. ถังผสมยาแก้ไอ ขนาด 200 ลิตร จำนวน 4 ถัง

12. ส่วนผสมและวัตถุดิบ พร้อมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิต จำนวนหลายรายการ

ผู้ต้องหารับสารภาพว่าผลิตและจำหน่ายยาไอปลอมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 โดยเริ่มต้นได้ผลิตยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ Datissin (ฝาแดง) ต่อมาเมื่อประมาณต้นปี พ.ศ. 2565 ได้เปลี่ยนมาผลิตยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ Diphenyl (ไก่แดง) แทน ส่วนยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ K-cough และยี่ห้อ A-chlordyl ซื้อมาจากบุคคลอื่น

รวมตรวจค้น 11 จุด มีการตรวจยึดของกลาง ผลิตภัณฑ์ยาอื่น ๆ วัตถุดิบที่ใช้ผลิตยาแก้ไอปลอม เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงพยานหลักฐานอื่น ๆ ในคดี จำนวนมากกว่า 80 รายการ มูลค่าความเสียหายประมาณ 70 ล้านบาท โดยเบื้องต้นการกระทำของผู้ต้องหา เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ร่วมกันผลิตและขายยาปลอม ตามมาตรา 72(1) ระวางโทษ จำคุกตั้งแต่สามปีถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท” และ “ร่วมกันผลิตและขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 12 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท” โดยผู้ต้องหาทั้ง 3 รายให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ Email:1556 @fda.moph.go.th ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *