ม.อ.ลงนามร่วม สนง.สาธารณสุขสงขลา พัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

ม.อ.ลงนามร่วม สนง.สาธารณสุข

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นตัวแทนในนามมหาวิทยาลัยในการลงนามในข้อตกลง ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา โดย นพ.อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ในการส่งเสริมการปลูกกัญชาและกัญชง และพัฒนาการนำมาใช้เพื่อการวิจัยและต่อยอดนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน และ แพทย์แผนไทย โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมให้การสนับสนุนทางห้องปฏิบัติการและงานวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับพืชดังกล่าว การจัดหาพื้นที่และควบคุมคุณภาพการปลูกในมหาวิทยาลัยและเครือข่ายที่ได้รับอนุญาต การนำผลผลิตมาทำเป็นยา ตำหรับยา และสูตรสังเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และทางเกษตรกรรม การสนับสนุนกันด้านข้อมูลที่สำคัญและจำเป็น และ การจัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรทางสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวหลังลงนามความร่วมมือว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีการเตรียมการพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยจัดกลุ่มคณะผู้ดูแลด้านนี้ตั้งแต่การปลูก การสกัด และการนำไปใช้ ซึ่ง 3 ส่วนหลักนี้สามารถทำให้เกิดผลเพื่อตอบโจทย์ว่างานวิจัยเรื่องกัญชาหรือสมุนไพรอื่นๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับเพื่อนมนุษย์ได้จริง แต่อีกส่วนหนึ่งคือการที่จะนำผลจากงานวิจัยเข้าไปถึงประชาชนและผู้ป่วย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีขึ้นและประชาชนจะได้รับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากผลงานวิจัย และการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ

ส่วนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันทุกโรงพยาบาลในจังหวัดสงขลามีความพร้อมในการเปิดคลินิกแบบผสมผสานที่ทำงานคู่กันระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาได้มีการฝึกอบรมแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ แพทย์แผนไทย ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้กัญชารักษาผู้ป่วย และมีเป้าหมายที่จะให้โรงพยาบาลชุมชนมีคลินิกกัญชาเกิดขึ้นในอนาคต  การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในครั้งนี้ถือเป็นรูปแบบความร่วมมือที่ดี เพราะกระบวนการดูแลเรื่องกัญชามีหลายมิติมากกว่าที่เราคิดไว้ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีความพร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์ การปลูก สถานที่ปลูก การสกัดเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ โดยหวังจะให้มีการขยายความร่วมมือนี้ให้ทั่วทั้งเขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งครอบคลุม 7 จังหวัดในภาคใต้