20 ปี สึนามิ: ทบทวนระบบเตือนภัยพิบัติ เหตุใดยังเต็มไปด้วยคำถาม? กับ ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา

เหตุแผ่นดินไหวรุนแรง ระดับ 9.1 เกิดขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ในมหาสมุทรอินเดีย ที่มีศูนย์กลางอยู่ฟากตะวันตก ตอนเหนือของเกาะสุมาตรา จากการเคลื่อนตัวเข้าหากันของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย และแผ่นเปลือกโลกพม่า ส่งผลให้เกิดคลื่นขนาดยักษ์ซัดเข้าหาฝั่งด้วยแรงยกตัวของแผ่นดินใต้มหาสมุทร และนั่นอาจเป็นครั้งแรกในชีวิตของคนจำนวนมากในภูมิภาคนี้ที่เพิ่งรู้จักคำว่า “สึนามิ” 

คลื่นสึนามิในเช้าวันที่ 26 ธันวาคมเมื่อ 20 ปีก่อน เคลื่อนตัวเข้าหาชายฝั่งตอนบนของเกาะสุมาตราราว 30 นาที หลังเกิดแผ่นดินไหว และ 1-2 ชั่วโมงต่อมา ก็เดินทางถึงชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยช่วงประมาณ 09:00 น. ตามด้วยประเทศศรีลังกาตามลำดับ 

ความเสียหายจากสึนามิถูกบันทึกว่าเป็นเหตุการณ์ความเสียหายที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งจากภัยพิบัติธรรมชาติ มีผู้เสียชีวิตในเขตปกครองอาเจะห์ เขตสุมาตราเหนือ ของประเทศอินโดนีเซียกว่า 127,700 ราย และ ผู้คนกว่า 425,800 คน ต้องถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งนั้น

ในประเทศไทย ผลกระทบเกิดขึ้นตามพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด ตั้งแต่ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และ จังหวัดสตูล รวมผู้เสียชีวิตกว่า 5,395 คน สูญหายกว่า 2,817 คน จากรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 

นั่นคือความสูญเสียในระดับมหาพิบัติภัยของประเทศไทยและมวลมนุษยชาติ ที่มีผู้ได้รับผลกระทบรุนแรงและกว้างขวาง จนกระทั่งกลายเป็นแรงขับดันให้รัฐเร่งสร้างกลไกและองค์ความรู้สาธารณะเพื่อรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้นอย่างเร่งด่วนในเวลานั้น

PSU Broadcast ชวนย้อนเหตุการณ์ด้วยรายงานจากหน้าสื่อไทยและต่างประเทศ และบทสัมภาษณ์ ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักวิชาการด้านแผ่นดินไหว อดีตอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปริญญาโท-เอก ด้านธรณีฟิสิกส์ สาขาแผ่นดินไหว จากมหาวิทยาลัยอุปซาลา (Uppsala University) ประเทศสวีเดน ชวนทบทวนสาเหตุและบทเรียน และสิ่งที่ยังมีข้อคำถามต่อการให้ความสำคัญของนโยบายสาธารณะต่อการรับมือ และแจ้งเตือนภัยพิบัติและสาธารณภัย

เพราะหลายครั้งภัยพิบัติยากจะหลีกเลี่ยง แต่ลดผลกระทบและความสูญเสียได้

ย้อนเหตุ 26 ธันวาคม 2567 ประเทศไทยไร้ระบบเตือนภัย?

รายงานจากสำนักข่าว The Guardian ระบุว่ากรมอุตุนิยมวิทยาในขณะนั้น ทราบเหตุการณ์แผ่นดินไหวในวันที่ 26 ธันวาคม 2567 และทราบถึงความเป็นไปได้ว่าจะเกิดคลื่นสึนามิในประเทศไทย แต่กรมอุตุฯ กล่าวถึงความไม่มั่นใจความรุนแรงของคลื่นที่จะเกิดขึ้นส่งผลให้ลังเลที่จะประกาศเตือนเพราะอาจกระทบต่อการท่องเที่ยว และ “ทำให้รัฐบาลขัดข้องใจหมองใจ” (anger the government)

ก่อนคลื่นสึนามิเข้าชายฝั่งอันดามันของประเทศไทย 1 ชั่วโมง รายงานจากเว็บไซต์ WSWS ระบุตรงกันว่ากรมอุตุนิยมวิทยามีการประชุมด่วนหลังทราบข่าวแผ่นดินไหว  แหล่งข่าวไม่ระบุชื่อในวงประชุมบอกกับหนังสือพิมพ์ Nation ว่ามีการถกเถียงเรื่องอันตรายและผลกระทบจากสึนามิ แต่วงประชุมตัดสินใจไม่เตือนภัย เพราะไม่มีจุดตรวจจับสึนามิในสมัยนั้นมารองรับ และอีกปัจจัยหนึ่งคือเกรงว่าหากเตือนภัยผิดพลาด (false warning) จะส่งผลต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว เพราะในช่วงนั้นฤดูกาลท่องเที่ยวที่โรงแรมแถบชายฝั่งทะเลจองเต็มทุกห้อง 

เหตุการณ์สึนามิ อ่าวนาง จ.กระบี่ (Wikipedia commons)

ภายหลังเหตุการณ์สูญเสีย เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2548  พล.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ยศในขณะนั้น) มีคำสั่งย้ายนายศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงศ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อเปิดทางให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุไร้การเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ 

อย่างไรก็ตาม นายศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงศ์ ได้กลับมารับราชการตามเดิม จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2551  ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าว Nation ที่ลงพื้นที่ทำข่าวและติดตามประเด็นนี้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่าเป็น “การไร้ความรับผิดชอบของภาครัฐ”

ดร.ไพบูลย์ สรุปบทเรียนจากเหตุดังกล่าวว่าเกิดจากองค์ความรู้ที่ไม่เพียงพอและการไม่มีระบบเตือนภัย

“ย้อนไป 20 ปีที่แล้ว ต้องยอมรับว่าเราไม่มีอะไรเลย ในด้านองค์ความรู้ที่รับมือกับสึนามิ และ ระบบเตือนภัยสึนามิ แม้มีการเตือนจากนักวิชาการว่าอาจเกิดสึนามิในประเทศไทยได้ แต่ความรู้เบื้องต้นคือไม่คิดว่าจะเกิดที่ประเทศไทย การเตือนภัย (จากภาครัฐ) ไม่เกิดขึ้น”

หลักการเกิดคลื่นสึนามิ

ดร.ไพบูลย์กล่าวถึง 3 เหตุการณ์ที่ส่งผลให้เกิดสึนามิ ได้แก่ หนึ่ง แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในทะเลหรือมหาสมุทร สอง ดินถล่มหรือมวลมหึมาของดินหล่นลงไปในทะเลหรือทะเลสาบ และ สาม อุกกาบาตขนาดใหญ่ตกในทะเลจึงเกิดคลื่นกระแทก 

นักแผ่นดินไหววิทยาแจงว่าข้อมูลทางสถิติ ร้อยละ 90 ของการเกิดคลื่นสึนามิเกิดจากสาเหตุแผ่นดินไหวในทะเลระดับ 7 ขึ้นไป

เหตุการณ์แผ่นดินไหวระดับ 9.1 ช่วงเช้าวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เกิดขึ้นจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย (Indian plate) และแผ่นเปลือกโลกย่อยพม่า (Burman microplate)  นักแผ่นดินไหววิทยาแบร์รี เฮิร์ชฮอร์น (Barry Hirshorn) กล่าวกับนิตยสาร National Geographic ว่าพลังงานที่เกิดขึ้นเทียบเท่ากับระเบิดปรมาณูที่ฮิโระชิมะถึง 23,000 ลูก

ผลจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลก ทำให้พื้นมหาสมุทรยกตัวสูงขึ้น เกิดเป็นมวลน้ำใหญ่ที่อุ้มพลังงานมหาศาลเอาไว้ พร้อมเคลื่อนตัวสู่ชายฝั่งด้วยความเร็ว 500 ไมล์ (ราว 800 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมง

งานวิจัยของดร.ไพบูลย์ นวลนิล ศึกษาสิ่งบอกเหตุของแผ่นดินไหวในสุมาตราและอันดามัน โดยประเมินว่าโอกาสที่แผ่นดินไหวขนาดใหญ่เช่นนี้จะเกิดซ้ำ จากการวิเคราะห์เชิงสถิติคือ 120 ปี ขึ้นไป นับจากปี พ.ศ. 2547/ค.ศ. 2004

หากย้อนกลับไปในเหตุการณ์สึนามิรุนแรงระดับใกล้เคียงกันคือ แผ่นดินไหวและสึนามิกระทบประเทศชิลีเมื่อ ค.ศ. 1976/พ.ศ. 2519 หรือ แผ่นดินไหวในมหาสมุทรแปซิฟิกระดับ 9.0 ซึ่งเกิดคลื่นสึนามิกระทบภูมิภาคโทโฮคุของประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2554/ค.ศ. 2011 ทั้งสองเหตุการณ์ล้วนส่งผลกระทบเสียหายทั้งชีวิตและสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างใหญ่หลวง

ถอดบทเรียน รอบ 20 ปี พัฒนาระบบตรวจคลื่นแผ่นดินไหว แต่ลงทุนเกินจำเป็นในทุ่นตรวจสึนามิ?

หลังเหตุสึนามิและความสูญเสียที่ตามมา คำว่าสึนามิ แผ่นดินไหว หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ถูกสอนและวางแผนการเรียนรู้ในระบบการศึกษา 

นักแผ่นดินไหววิทยากล่าวว่า ในด้านที่เกี่ยวกับแผ่นดินไหว หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบโดยตรงด้านตรวจวัดแผ่นดินไหวของประเทศไทยและโดยรอบคือ กรมอุตุนิยมวิทยา 

หลังจากเดือนธันวาคม พ.ศ.2547 กรมอุตุนิยมวิทยาได้รับงบประมาณเพื่อปรับปรุงสถานีเครือข่ายให้มีจำนวนสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวมากขึ้น ทันสมัยขึ้น และมีโปรแกรมคำนวณได้รวดเร็วยิ่งขึ้น 

นอกจากนั้น สหประชาชาติยังได้ให้ทุ่นเตือนภัยสึนามิ 1 ทุ่น และทางรัฐบาลไทยซื้อใช้งานเองอีก 1 ทุ่น ตั้งอยู่ 2 จุด ห่างจากเกาะภูเก็ต 350 กิโลเมตร ในทะเลอันดามัน และ 950 กิโลเมตร ในมหาสมุทรอินเดีย

ดร.ไพบูลย์กล่าวว่า ปัญหาคือ ทุ่นตรวจจับสึนามิทั้งสอง ใช้งานได้เพียงร้อยละ 50 ของประสิทธิภาพทั้งหมด เนื่องจากทุ่นตรวจจับดังกล่าวขัดข้องชำรุดและไม่สามารถแสดงผลข้อมูลได้ 

“ปัจจุบัน ทุ่นตรวจจับสึนามิ ในมหาสมุทรอินเดีย เพิ่งเปลี่ยนเมื่อ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ลูกนี้เสียตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 หมายถึง 1 ปี ที่ไม่มีทุ่นสึนามิ ส่วนทุ่นใกล้ จ.ภูเก็ต เสียเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ยังเปลี่ยนทุ่นไม่สำเร็จ  ทุ่น 1 ลูก 30 ล้าน ค่าติดตั้งราว 10 ล้าน เราใช้งบประมาณ 7-80 ล้าน เพื่อดูแล แต่ใช้ประโยชน์จากทุ่นเตือนภัยน้อยมาก”

ภาพจาก National buoy center – สีแดงคือจุดที่ไม่แสดงข้อมูลปัจจุบัน (ภาพเมื่อ 26 ธ.ค. 2567)

นักวิชาการด้านแผ่นดินไหวมองว่าประเทศไทยอาจไม่จำเป็นต้องลงทุนในทุ่นตรวจจับสึนามิมากเท่าปัจจุบัน เนื่องจากตั้งอยู่ไกลจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว และระยะเวลาหากเกิดสึนามิถึงฝั่งอยู่ที่ราว ชั่วโมงครึ่งถึง 2 ชั่วโมง และการเตือนภัยล่วงหน้ามักไม่ใช่ข้อมูลจากทุ่นสึนามิ แต่ใช้การตรวจคลื่นแผ่นดินไหวเป็นหลัก ซึ่งเร็วกว่าคลื่นสึนามิถึง 50 เท่า

“ศูนย์เตือนภัยสึนามิของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นหน่วยงานที่เตือนภัยสึนามิทั่วโลก หากอยู่ในข่ายที่มีโอกาสเกิดสึนามิ เขาจะส่งข้อมูลได้ เฉลี่ยแล้วภายใน 7 นาที จะเตือนภัยได้ทั่วโลกไม่ว่าจะอยู่บริเวณไหน” ดร.ไพบูลย์กล่าวเสริมถึงบทบาทของศูนย์เตือนภัยสึนามิของสหรัฐอเมริกา

จากสึนามิถึงอุทกภัย ‘67 คำถามถึงบทบาทการแจ้งเตือนจากภาครัฐ

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ไปกว่าข้อมูลด้านแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิคือระบบเตือนภัยสาธารณะ ซึ่งนักแผ่นดินไหววิทยามองว่าคำจำกัดความของ “ภัยพิบัติ” ครอบคลุมทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติและจากมนุษย์ ทั้งโรงงานระเบิด แก๊สรถยนต์ระเบิด จนถึงน้ำมันรั่ว ฯลฯ

ปี พ.ศ. 2548 คือจุดกำเนิดของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ถัดมาหนึ่งปี พ.ศ. 2550 ตำแหน่งแห่งที่ของศูนย์ฯ ถูกย้ายไปเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

พ.ศ.2559 ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติถูกโอนย้ายอีกครั้ง ให้ไปสังกัดภายในกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สังกัดกระทรวงมหาดไทย  

ดร.ไพบูลย์ มองว่าการโอนย้ายในครั้งนี้ส่งผลให้บทบาทของศูนย์ฯ ถูกลดบทบาทให้เป็นหน่วยงานที่เล็กกว่า ปภ. และตนมองว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่บุคลากรของศูนย์ฯ ประกอบด้วยพนักงานสายธุรการหรือการจัดการเป็นหลัก ไม่ใช่คณะนักวิทยาศาสตร์และสายวิศวกร หรือบุคลากรที่มีความรู้ด้านระบบเตือนภัย 

“แม้แต่เว็บไซต์ของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติยังไม่มีการทราบ เพราะคนเข้าไปดูน้อย และคอนเทนต์ที่เข้าไปลงน้อย และการเตือนภัยไม่มี ไม่ได้มาจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ” นักแผ่นดินไหววิทยากล่าว

ประเด็นนี้ถูกจุดขึ้นอีกครั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2567 เมื่ออุทกภัยภาคเหนือช่วงเดือนกันยายน พ.ศ.2567 จนถึงอุทกภัยภาคใต้ในช่วงปลายปี อันเป็นโจทย์ต่อเนื่องของการสร้างความเชื่อมั่นและความรวดเร็ว เข้าถึงง่ายของระบบเตือนภัยภาครัฐ นับจาก สึนามิ พ.ศ.2547 ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อต่อความปลอดภัยสาธารณะของประชาชน

นักแผ่นดินไหววิทยามองว่า บทบาทของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติควรเป็นหน่วยงานอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาระดมความรู้ หารือร่วมกันเพื่อเป็นทิศทางของนโยบายและความรู้อย่างเป็นองค์รวม พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าแม้ภัยพิบัติทางธรรมชาติอาจคาดเดาการเกิดไม่ได้ แต่สังคมเตรียมการ เตือนภัย เพื่อลดความสูญเสียได้

เรื่อง: ธีรภัทร อรุณรัตน์
บรรณาธิการ: บัญชร วิเชียรศรี
ภาพถ่าย: ภานิชา ปณัยเวธน์

แหล่งข้อมูลประกอบบทความ

The Guardian, World Socialist Web Site (WSWS.org), ประชาไท, National Geographic, Tsunami Thailand, One Year Later (National Response and Contribution of International Partners) – UNDP

อ่านต่อ

ศูนย์บริการวิชาการ ม.อ. ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. แถลงข่าวโครงการทำการศึกษาวิจัยแนวทางในการบริหารจัดการปากร่องน้ำบ้านน้ำเค็มจังหวัดพังงา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *