วันนี้ (27 มี.ค. 2568) เวลา 17:40 น. ศูนย์วิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รานงานสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคใต้ตลอดทั้งสัปดาห์ ระบุสาเหตุจากอัตราการระบายอากาศต่ำ ส่งผลให้ฝุ่นละอองในพื้นที่ไม่สามารถระบายออกได้
ศูนย์วิจัยมลพิษฯ ยกแหล่งข้อมูลจากศูนย์โอโซนและรังสี กรมอุตุนิยมวิทยา ด้านอัตราการระบายอากาศในพื้นที่จังหวัดสงขลา ระบุ “อัตราการระบายอากาศส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ ‘ไม่ดี’” ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม – 5 เมษายน 2568
ส่วนทางภาคใต้ตอนบนนั้นได้รับอิทธิพลจากฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาไหม้ในพื้นที่โล่งแจ้งจากอิทธิพลลมตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับอัตราการระบายอากาศต่ำข้างต้น
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พบว่า ค่าฝุ่นรายชั่วโมงช่วงเวลา 17:00 น. อยู่ที่ 19.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ตามข้อมูลเว็บไซต์ IQAir.com และ ตามข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ (air4thai.pcd.go.th) และ ระบบติดตาม PM2.5 จาก GISTDA (pm25.gistda.or.th) ระบุค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 24.1 มคก./ลบ.ม. และ 25.3 มคก./ลบ.ม. ตามลำดับ
กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศ PM2.5 ไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ซึ่ง เกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดค่าฝุ่นที่เริ่มส่งผลต่อสุขภาพให้ไม่ควรเกิน 15 มคก./ลบ.ม.
.
ประมวลข่าว: กองบรรณาธิการ
ภาพ: ระบบติดตาม PM2.5 – GISTDA