จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ที่ในปัจจุบันกำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น พบการติดเชื้อในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย และมีการแพร่กระจายเชื้อไวรัสจากคนสู่คน จนทำให้หน้ากากอนามัยขาดตลาด ส่งผมกระทบกับบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไป หน้ากากผ้าจึงเป็นทางเลือกในการใช้ทดแทนหน้ากากอนามัยซึ่งเหมาะสำหรับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น บุคลากรสาธารณสุขที่ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย และประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ป่วย แนะนำให้ใช้ หน้ากากผ้า เมื่อต้องเข้าไปในแหล่งชุมชนที่มีผู้คนหนาแน่น หรือใช้รถขนส่งสาธารณะ เพื่อลดการใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์โดยสิ้นเปลือง และจะทำให้แพทย์ที่ทำงานใกล้ชิดผู้ป่วยจะได้มีหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ใช้อย่างเพียงพอ
อาจารยปทิดา โมราศิลป์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน OCVID -19 ได้ระบาดไปทั่วโลก และประเทศไทย ส่งผลกระทบกับประชาชน จึงได้ร่วมกับคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาร่วมผลิตหน้ากากผ้า เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพมหานคร นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
อาจารย์ปทิดา กล่าวต่อไปอีกว่า หน้ากากผ้าที่ผลิต ทำจากวัสดุผ้าซาลู หรือผ้าที่ใช้สำหรับผลิตผ้าอ้อมเด็ก มีลักษณะเนื้อนิ่ม มีช่องสำหรับใส่แผ่นกรอง สามารถซักแล้วนำมาใช้ซ้ำได้ ด้วยการซักกับผลิตภัณฑ์ซักผ้าทั่วไปได้ทุกรูปแบบ แล้วผึ่งตากให้แห้ง ในการผลิตหน้ากากดังกล่าวจะนำไปซักทำความสะอาดและฆ่าเชื้อก่อนส่งมอบให้โรงพยาบาลราชวิถีต่อไป
ถึงแม้หน้ากากผ้าจะไม่ป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ 100 % แต่สามารถป้องกันไวรัสและโรคระบาดอย่างอื่นได้ อย่างน้อยเป็นการช่วยบรรเทาและป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยเน้นย้ำ ให้ให้ประชาชน กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ หลีกเลี่ยงพื้นที่ผู้คนเยอะ แต่ถ้ามีความจำเป็นหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ใช้หน้ากากผ้าเพื่อป้องกันโรค