มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมพลังนักวิจัยเร่งพัฒนาชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโควิท-19 โดยทีมงานนักวิจัยคณะเทคนิคการแพทย์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ ประกอบด้วย ดร.จิดาภา เซคเคย์ ดร.ปิยะวุฒิ แสวงผล ดร.ธีรภัทร นวลน้อย ดร.ณัฏฐาภรณ์ ณ นคร ดร.ปวีณา วงศ์วิทย์วิโชติ ดร.เอกราช นวลลออ โดย ผศ.ดร.ธีรกมล เพ็งสกุล จากคณะเทคนิคการแพทย์ เป็น หัวหน้าโครงการ จะใช้เวลาตรวจประมาณ 15 นาที สามารถบ่งบอกระยะเวลาของการติดเชื้อ COVID-19 ได้
เมื่อวิจัยเสร็จสิ้น ภายหลังจดอนุสิทธิบัตร ภาคเอกชน จะนำไปขอ อ.ย. เพื่อผลิต ชุดตรวจต่อไป โครงการวิจัยและพัฒนาชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรอเชื้อไวรัสโควิท-19 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัทโสมาภา อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) 2 ล้านบาท ลาวแอร์ไลน์ จำนวน 1 ล้านบาท และบริษัทเวลเนสไลฟ์ เซ็นเตอร์ จำกัด จำนวน 1 ล้านบาท บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชัน 1 ล้านบาท และบริษัทบีซีพีจี จำกัด (มหาชน) 1 ล้านบาท รวมทั้งภาคเอกชนอื่นๆ
โลกพบการติดเชื้อไวรัสโควิท-19 เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน จากนั้นระบาดอย่างรวดเร็วและกระจายไปทั่วโลก วงจรชีวิตของไวรัส เริ่มจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อ เช่น สารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ น้ำลาย หลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อ COVID-19 เชื้อจะมีระยะเวลาฟักประมาณ 3-7 วัน หรืออาจยาวนานถึง 2 สัปดาห์ อาการของผู้ติดเชื้อมีหลายระดับ ตั้งแต่มีอาการไม่รุนแรง เช่น ไข้ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ หรือปอดอักเสบไม่รุนแรง คล้ายอาการไข้หวัดทั่วไป ซึ่งพบมากถึง 81 % ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ไปจนถึงการติดเชื้ออย่างรุนแรงในทางระบบทางเดินหายใจ ประมาณ 14 % และกลุ่มที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เกิดภาวะการทำงานของอวัยวะหลายๆ ระบบล้มเหลว
การวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ถือเป็นวิธีมาตรฐาน คือการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส โดยตรวจจากสิ่งส่งตรวจที่เป็นสารคัดหลั่งบริเวณทางเดินหายใจ ต้องใช้บุคลาการที่มีความชำนาญในการปฏิบัติงานและแปลผลการตรวจ มีระยะเวลาการตรวจที่นานประมาณ 2-3 ชั่วโมง เครื่องมือมีราคาสูงไม่เหมาะกับงานภาคสนาม หรือการตรวจข้างเตียง อีกทั้งบุคลากรที่ทำหน้าที่เก็บตัวอย่างจะมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อไวรัส เนื่องจากต้องสัมผัสกับคนไข้และตัวอย่างส่งตรวจที่มีความเข้มข้นของเชื้อไวรัสในปริมาณที่สูง
ผศ.ดร.ธีรกมล เพ็งสกุล คณะเทคนิคการแพทย์ หัวหน้าโครงการชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโควิท-19 ที่ทีมงานวิจัย สามารถระบุได้ว่า ผู้ป่วยนั้นระยะเวลาของการติดเชื้อช่วงใด ผู้เข้าตรวจเคยได้รับเชื้อหรือไม่ ชุดตรวจจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที จะรู้ผล โดยผู้ทดสอบเป็นบุคลากรทางการแพทย์ งานนี้เป็นการรวมทีมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายด้าน ประกอบด้วย เทคนิคการแพทย์ เภสัชกร และแพทย์ ซึ่งเราต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อ เพื่อให้เราผ่านวิกฤตไปด้วยกัน
“โครงการพัฒนาชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัส COVID-19″ ชุดตรวจนี้ใช้สำหรับตรวจคัดกรองผู้ป่วย COVID-19 ได้อย่างรวดเร็ว โดยการตรวจหา immunoglobulin ทั้งชนิด IgM และ IgG ที่จับจำเพาะต่อโปรตีนของเชื้อ COVID-19 เป็นประโยชน์ต่อทั้งการตรวจการติดเชื้อในเบื้องต้นและตรวจติดตามการพัฒนาภูมิคุ้มกันของร่างกาย ชุดตรวจนี้ใช้หลักการ immunochromatography (ICT) เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการตรวจ ใช้เวลาในการตรวจเพียง 15 นาที ชุดตรวจมีความไวและความจำเพาะสูง มีความคงตัวสูงสามารถเก็บรักษาได้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลาหลายเดือน อีกทั้งตัวอย่างที่ใช้ในการตรวจมีปริมาตรน้อย ประมาณ 15-20 ไมโครลิตร (2-3 หยด) ใช้ได้กับตัวอย่างเลือดที่เจาะจากปลายนิ้ว พลาสมาหรือซีรัม ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้มีปริมาณของเชื้อไวรัสที่น้อยมาก ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรจากผู้ป่วย อีกทั้งผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสามารถตรวจได้ที่บ้าน โดยการแปลผลการทดสอบควรได้รับคำปรึกษาจากบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาล
จากประสบการณ์การทำงานของคณะผู้วิจัย อันประกอบไปด้วยนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิชาการและการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อ เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาชุดทดสอบ และมีประสบการณ์ในการพัฒนาชุดทดสอบการติดเชื้อไวรัสโดยตรง อีกทั้งมีห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำให้คณะผู้วิจัยมีความมั่นใจว่าการพัฒนาชุดทดสอบดังกล่าวจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี กล่าว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา ในการต้านภัยและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ให้ถึงที่สุด