นักวิจัย ม.อ.มุ่งนำเทคโนโลยีดิจิตอลต่อยอดอุปกรณ์รักษาเส้นประสาทมือชา

ชุดอุปกรณ์ผ่าตัดกล้องส่องไร้สายแบบปฏิสัมพันธ์ (Interactive Wireless Endoscope) โดยทีมวิจัย ผศ.ดร.สุรพงษ์ ชาติพันธุ์ ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ คณะแพทยศาสตร์ ร่วมกับ รศ.ดร.พรชัย พฤกษ์ภัทรานนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เกิดจากการพัฒนาต่อยอดอุปกรณ์การรักษาเส้นประสาทมือชาโดยการผ่าตัด ที่เป็นเครื่องมือชิ้นใหญ่ ประกอบด้วย กล้อง ตัวเครื่องแหล่งกำเนิดแสง จอมอนิเตอร์ ต้องมีการติดตั้งใช้งาน ต่อด้วยสายระโยงระยาง ขยับหรือเข็นไปไหนไม่ได้ จึงเอาอุปกรณ์ที่จำเป็นมาย่อส่วนให้อยู่ในเครื่องเดียวกัน เป็นเครื่องผ่าตัดแบบพกพาเป็นระบบไร้สาย เพื่อการใช้งานที่สะดวกขึ้นในอนาคต ไม่จำเป็นต้องใช้ห้องผ่าตัดใหญ่ เต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือ

โดยเป็นการใช้การผ่าตัดผสานเชื่อมต่อเอาเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามา อุปกรณ์เป็นลักษณะ Hand Held จับด้วยมือ มีใบมีดผ่าตัดติดอยู่ที่ปลายตรงตัวปลอกที่สวมไปกับปลายของลำกล้องสำหรับส่อง และลำกล้องจะต่อกับตัวด้ามจับที่มีกล้องวิดีโอและอุปกรณ์ส่งสัญญาณไร้สายบรรจุอยู่ อุปกรณ์นี้จะสอดปลายด้ามที่มีใบมีดเข้าไปตรงข้อมือที่ต้องการผ่าตัดพังผืด โดยภาพที่ได้จะถูกส่งเป็นสัญญาณออกมาเชื่อมกับจอที่ใช้ดูเป็นไอแพด หรือคอมพิวเตอร์ โดยใช้ระบบไร้สาย แพทย์ไม่ต้องคอยมองจอทีวี สามารถควบคุมผ่านอุปกรณ์ดังกล่าวแทนได้เลย และได้ยื่นคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไว้ เป็นการเชื่อมต่อแพลตฟอร์มในอนาคตกับแพทย์ทั่วโลกได้ ในขณะที่มีการผ่าตัดเกิดขึ้นที่ตรงนี้ แต่สามารถที่จะดึงเอาแพทย์จากที่ต่าง ๆ มาร่วมในการผ่าตัด ณ พื้นที่เดียวกัน

สำหรับชุดอุปกรณ์ผ่าตัดกล้องส่องไร้สายแบบปฏิสัมพันธ์ ใช้เวลาพัฒนามากว่า 5 ปี โดยใช้โปรแกรม Smart Assistant ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้แพทย์ผ่าตัดได้ถูกต้องตรงตำแหน่งที่ต้องการ หากปลายใบมีดผ่าตัดเข้าไปใกล้เนื้อเยื่อหรือเส้นประสาทที่ไม่ใช่เป้าหมายในการผ่าตัดจะมีการแจ้งเตือนให้แพทย์รับทราบว่าผิดตำแหน่ง นวัตกรรมตัวนี้จะใช้พิสูจน์ทฤษฎีผ่าตัดที่ข้อมือก่อน เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าสามารถเอาไปต่อยอดเพื่อการผ่าตัดอวัยวะส่วนอื่นได้ ตัวอุปกรณ์เองสามารถนำไปต่อกับกล้องเพื่อการผ่าตัดช่องท้องก็ได้ โดยเปลี่ยนใบมีดได้ตามการออกแบบส่วนโค้งว่าอยากได้มุมประมาณไหนที่อยากจะให้ตัดเข้าไปแล้วไม่ติดขัด ลื่นไหล ใช้สำหรับผ่าตัดไส้ติ่งก็ได้

ชุดอุปกรณ์ผ่าตัดกล้องส่องไร้สายแบบปฏิสัมพันธ์ ได้รับรางวัล MEDALLE D’OR BRONZE MEDAL (เหรียญทองแดง)  ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ “47th International Exhibition of Inventions of Geneva” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และรางวัล Special Prize จากประเทศรัสเซีย