ม. สงขลานครินทร์ เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พัฒนานวัตกรรม 5G สู่เมืองมั่นคงยั่งยืน

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MoU) ร่วมกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ณ ห้องประชุมดงยาง 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี เป็นประธานในพิธีเปิดและเป็นผู้ลงนามในฐานะตัวแทนของมหาวิทยาลัย และคุณกฤตินัย ผลาชีวะ General Manager  Regional Management UPC II / Regional Management UPC Lower South ลงนามในฐานะตัวแทนบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สาระสำคัญของบันทึกข้อตกลงคือ ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันสร้างความร่วมมือด้านการศึกษา ด้านการวิจัย การทดสอบเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี 5G รวมทั้งเทคโนโลยีอนาคต ในการนำมาประยุกต์ใช้ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการอันจะนำไปสู่การพัฒนาด้านนวัตกรรม ความเป็นเลิศทางวิชาการ เทคโนโลยี รวมทั้งสามารถนำผลการวิจัยและผลการทดสอบมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ตัวอย่างเทคโนโลยี ได้แก่ ระบบความปลอดภัย ระบบสาธารณสุขทางไกล ระบบสนับสนุนทางการแพทย์ ระบบอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ สิ่งแวดล้อม พลังงาน เกษตรกรรม และเทคโนโลยีใหม่ที่มีความสนใจร่วมกัน

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มติดตั้งตู้ควบคุมและเตรียม 5G base station ที่ตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์ และตึกกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไว้พร้อมสำหรับการสาธิตการใช้นวัตกรรมล้ำสมัย ได้แก่ ระบบความปลอดภัย ระบบสนับสนุนทางการแพทย์ การส่งวิดีโอความเร็วสูง เป็นต้น ในการสาธิตจะมีการแสดงถึงศักยภาพด้านความเร็วของระบบเครือข่าย 5G ที่สามารถใช้งานได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทดสอบความสามารถในการใช้งานข้าม base station ได้ โดยไม่มีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อของสัญญาณ

ด้านคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานในการติดตั้งสถานีฐาน การยื่นขอเป็นผู้ประสานงานการใช้คลื่นความถี่เพื่อการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรม ในพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ (Regulatory Sandbox) สำหรับการวิจัยและทดสอบ 5G ส่งเสริมการพัฒนาและการทดสอบนวัตกรรมในพื้นที่ หวังใช้ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G ในการรับส่งข้อมูลที่รวดเร็วและรองรับข้อมูลและอุปกรณ์จำนวนมหาศาล สามารถสร้างระบบนิเวศน์ธุรกิจใหม่ที่สร้างมูลค่าเกิดขึ้นในภาคใต้ รวมทั้งการพัฒนาวิศวกรและนักวิจัยที่มีศักยภาพเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศต่อไป