อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.อ. แนะเจ้าของควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า เพื่อป้องกันการติดเชื้อทั้งสัตว์และคน พร้อมลดจำนวนโรคพิษสุนัขบ้าใน จ.สงขลา

สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าระหว่างวันที่ 15 มี.ค.-15 เม.ย.2565 ที่ผ่านมา มีรายงานว่าพบโรคพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศจำนวน 17 ตัว พบในจังหวัดสงขลาจำนวน 5 ตัว และจากข้อมูลหลายปีที่ผ่านมาพบว่าจังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเร่งดำเนินการตามแนวทางการลดจำนวนพิษสุนัขบ้าด้วยการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง

ดร.น.สพ.วิชญะ ทองตะโก อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เรบีส์ (Rabies) สามารถแพร่จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว วัว กระต่าย กระรอก ชูก้าไรเดอร์ หนู ค้างคาว เป็นต้น ระยะฟักตัวมักแสดงอาการประมาณ 30-45 วัน แต่หากมีอาการแล้วสัตว์ตัวนั้นๆจะตายภายใน 10-15 วัน นอกจากนี้เชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายของคนผ่านทางบาดแผล รอยถลอกที่ถูกสัตว์กัด ข่วน หรือ น้ำลายที่สัตว์เลีย ซึ่งผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าเสียชีวิตเกือบทุกราย อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษามีเพียงการฉีดวัคซีนป้องกันเท่านั้น

อาการของโรคพิษสุนัขบ้า แบ่งออกเป็น 3 ระยะดังนี้

  1. ระยะฟักตัว ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนเริ่มแสดงอาการ แต่ละคนจะมีระยะเวลาฟักตัวที่ต่างกันขึ้นอยู่กับสุขภาพ จำนานเชื้อที่รับเข้าไป หรือตำแหน่งที่รับเชื้อ
  2. ระยะตื่นเต้น มักมีอาการกระวนกระวาย ตื่นเต้นต่อสิ่งเร้าได้ง่าย บางรายอาการจะรุนแรงขึ้นจนอาละวาด
  3. ระยะสุดท้าย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการทางสมอง กล้ามเนื้อกระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด

ในกรณีที่จังหวัดสงขลามีจำนวนสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าค่อนข้างเยอะ เนื่องจาก จ.สงขลามีพื้นที่ค่อนข้างกว้างและมีหลายส่วนอำเภอ รวมถึงมีจำนวนสัตว์จรจัดจำนวนไม่น้อยทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนตามแนวทางการลดจำนวนพิษสุนัขบ้าอย่างทั่วถึง อีกทั้งขอความร่วมมือผู้ที่เลี้ยงสัตว์นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เน้นย้ำผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากไม่ปฏิบัติมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ระบุข้อความตามมาตรา 21 เจ้าของสัตว์ไม่นำไปฉีดวัคซีน มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท มาตรา 23 ผู้ใดใช้เครื่องหมายประจำตัวสัตว์ หรือใบรับรองการฉีดวัคซีนเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 24 เจ้าของสัตว์ที่ไม่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่หรือไม่กักขังสัตว์ที่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าหรือสัตว์ที่ถูกสัตว์ที่เป็นพิษสุนัขบ้ากัด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 3,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับประชาชนทั่วไปควรยึดหลัก 5 ย. อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อยย่าแย่ง อย่าหยิบ และอย่ายุ่ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกกัดหรือข่วนจากสัตว์ที่มีพิษสุนัขบ้า กรณีที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกสัตว์ที่สันนิษฐานว่ามีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัดหรือข่วน ควรรีบล้างแผลและใส่ยาฆ่าเชื้อทันที หากเป็นสัตว์เลี้ยงของตนเองให้กักบริเวณเพื่อดูอาการอย่างน้อย 10 วัน แต่หากเป็นสัตว์จรจัดไม่มีเจ้าของให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าทันที

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *