“ทุเรียน” ราชาแห่งผลไม้ เป็นไม้ผลยืนต้นขนาดใหญ่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในเขตพื้นที่สภาพอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิที่เหมาะสม ประมาณ 10 – 46 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 2,000 มิลลิเมตร ทุเรียนที่เพาะปลูกในประเทศไทยมีสายพันธุ์มากกว่า 200 พันธุ์ สายพันธุ์ที่นิยมสำหรับการบริโภคและการค้า ได้แก่ พันธุ์ชะนี หมอนทอง ก้านยาว พวงมณี และกระดุม รวมถึงทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อสายพันธุ์อีกจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่พบในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
รองศาสตราจารย์ ดร.จรัสศรี นวลศรี หัวหน้าศูนย์วิจัยพืชยืนต้น และไม้ผลเมืองร้อน คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. หาดใหญ่ ให้สัมภาษณ์ในรายการแลบ้านแลเมืองว่า ปีนี้ทุเรียนติดผลน้อยไม่ว่าจะเป็นทุเรียนบ้านหรือทุเรียนพันธุ์ สาเหตุหลักเกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เจอฝนตกชุกในช่วงติดผล และออกผลเร็วกว่าปกติ เนื่องจากโดยธรรมชาติทุเรียนบ้านจะสุกก่อนทุเรียนหมอนทอง หรือชะนี ทางคณะทรัพยากรธรรมชาติเลยกำหนดจัดประกวดทุเรียนบ้านก่อนการประกวดทุเรียนพันธุ์อื่นๆซึ่งกำหนดจัดในงานเกษตรภาคใต้ อ.จรัสศรีเล่าว่าเป้าหมายสำคัญของการประกวดคือการรวบรวมพันธุ์ทุเรียนบ้านและคัดสรรทุเรียนบ้านที่มีศักยภาพที่จะต่อยอดพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพราะภาคใต้ยังมีทุเรียนบ้านอยู่จำนวนมากและหลากหลายรสชาติ อ.จรัสศรีเล่าต่อว่า การต่อยอดทุเรียนบ้าน สามารถทำได้โดยหากเจอทุเรียนบ้านที่ทรงผลดี รสชาติดี เนื้อหนา จะนำมาขึ้นทะเบียนเป็นสายพันธุ์ใหม่และสนับสนุนการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนของทุเรียนสายพันธุ์นั้นให้มากขึ้น ซึ่งข้อกำหนดในให้คะแนนทุเรียนที่เข้าประกวดนอกจากคุณลักษณะทุเรียนที่ดีแล้วยังพิจารณาปัจจัยอื่นๆเช่น ทุเรียนไม่เป็นโรค (ไฟทอปธอร่า) ประกอบกับลักษณะเนื้อมีความหนาอยู่ในสภาพที่สวยงามควรแก่การรับประทาน
ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการประกวดพันธุ์ทุเรียนบ้านสามารถลงทะเบียนสมัครพร้อมนำทุเรียนบ้านมาเข้าประกวด ได้ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 08.30 – 14.00 น. ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยทุเรียน 1 สายพันธุ์ส่งได้ 2 ลูกไม่จำกัดจำนวนสายพันธุ์ต่อคน ส่วนสำหรับการประกวดพันธุ์ทุเรียนหมอนทอง ชะนี และส้มโอทับทิมสยาม ประกวดในวันที่ 16 – 17 สิงหาคม 2565 ภายในงานเกษตรภาคใต้ ประจำปี 2565 สอบถามเพิ่มเติม โทร 074-286138 , 087-1863216 เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูล : คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่