ม.อ.ปัตตานีประสบความสำเร็จส่งเสริมการเลี้ยงปูทะเล สร้างมูลค่าเศรษฐกิจปูทะเลไทย 5,000 ล้านบาท ใน 5 ปีมุ่งเป้าเมืองปูทะเลโลก

ม.อ.ปัตตานีประสบความสำเร็จส่งเสริมการเลี้ยงปูทะเล สร้างมูลค่าเศรษฐกิจปูทะเลไทย 5,000 ล้านบาท ใน 5 ปีมุ่งเป้าเมืองปูทะเลโลก

ปูทะเลเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูง ผู้บริโภคนิยมบริโภค ราคาดี มีเกษตรกรผู้เลี้ยงจำนวนน้อยทั้งที่มีความต้องการบริโภคสูง ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าปูทะเลเพื่อให้เพียงพอกับการบริโภค รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีและคณะ วิจัยและพัฒนาการเลี้ยงปูทะเลโดยใช้แบบอย่างความสำเร็จจากประเทศเวียดนามที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจการเลี้ยงปูทะเลสูงถึงกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี

อาจารย์ซุกรีเล่าว่า หากพัฒนาการเลี้ยงตอบสนองตลาดในประเทศทดแทนนำเข้า จะสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้ประชาชนได้มากมาย  อีกปัจจัยคือปูธรรมชาติลดลงกระทบการเลี้ยงปูทะเลซึ่งใช้พ่อแม่พันธุ์ปูจากธรรมชาติ ประกอบกับประเทศไทยมีนากุ้งร้างกว่า 3-4 แสนไร่ หากใช้เลี้ยงปูแค่ครึ่งหนึ่งสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจจากปูทะเลได้ถึง 5 พันล้านบาทต่อปี  ซึ่งอ.ซุกรีมองว่าการเลี้ยงปูทะเลจะได้ทั้งสร้างรายได้และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพราะปูทะเลเป็นสัตว์เศรษฐกิจ blue green economy คือกระทบสิ่งแวดล้อมน้อย เช่น เลี้ยงร่วมในป่าชายเลน ปูจะขุดรูช่วยย่อยสลายอินทรีย์สาร การพัฒนาโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนปูทะเลของโครงการ เริ่มจากตั้งโรงเพาะฟัก ซึ่งปัจจุบันเกิดโรงเพาะฟักทั้งของกรมประมงและเอกชน เชนที่สองเป็นสิ่งที่ประเทศไทยยังขาดคือฟาร์มอนุบาลลูกปู ซึ่งอาจารย์ซุกรี บอกว่าประเทศเวียดนามมี ถัดจากนั้นคือการเลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งปัจจุบันมีการเลี้ยงในจังหวัดปัตตานีกว่า 20 บ่อ  ส่วนปูขุนและปูนิ่มมีบ้างแต่เอาปูจากธรรมชาติเป็นหลัก ส่วนการแปรรูปยังไม่จำเป็นนักเพราะเพียงบริโภคสดก็ยังไม่พอ

เจตนารมณ์สำคัญของโครงการวิจัยการเลี้ยงปูทะเลที่จังหวัดปัตตานีคืออยากให้เกิดห่วงโซ่การผลิตหรือsupply chain ปูทะเลที่สมบูรณ์ตั้งแต่การเพาะเลี้ยงถึงผู้บริโภค โดยเริ่มต้นโครงการวิจัยร่วมกับกรมประมงและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันคณะดำเนินโครงการวิจัยเอง โจทย์สำคัญที่ต้องทำให้เกิดซัพพลายเชนการเลี้ยงปูทะเลที่สมบูรณ์ อาจารย์ซุกรีเล่าว่าคือการสร้างโรงเพาะฟัก เพื่อให้เกิดการขยายพันธุ์ปูทะเลจำนวนมาก แต่ยังขาดบ่ออนุบาลลูกปูซึ่งยังไม่มีในจังหวัดปัตตานี ฉะนั้นหลังออกจากโรงเพาะฟัก ลูกปูก็เข้าบ่อเลี้ยงเลย ต่างจากประเทศเวียดนามซึ่งมีบ่ออนุบาลลูกปู หลังออกจากโรงเพาะฟักก็เข้าบ่ออนุบาล ซึ่งสร้างอีกอาชีพให้ชาวบ้าน หมู่บ้านเลี้ยงปูทะเลที่เวียดนามขายลูกปูเหมือนร้านขายของชำ คนเลี้ยงปูซื้อลูกปูจากบ่ออนุบาลในหมู่บ้านแล้วปล่อยลงบ่อเลี้ยง  ผลของโครงการวิจัยทำให้เกิดบ่อเลี้ยง กว่า 20 บ่อ เกิดโรงเพาะฟักลูกปู เกิดผู้เลี้ยงปูแบบระบบคอนโด ระบบปิดที่เลียนแบบธรรมชาติ ควบคุมความเค็ม อาหาร ความสะอาดฯ  และเกิดการขยายผลพัฒนาจากผู้เลี้ยงเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารหรือพัฒนาตลาดของผู้เลี้ยงเอง และความตั้งใจที่สำคัญที่อาจารย์ย้ำคือการเปิดกว้างองค์ความรู้การเลี้ยงปูทะเลทั้งหมดให้ประชาชนโดยไม่มีการจดสิทธิบัตร ถ้าเกษตรกรสนใจการเลี้ยงปูทะเลติดต่อที่รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  073-331-303

โพสต์ไว้ที่: News เก็บเข้าไฟล์ไว้ที่:

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *