สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดงานสัมมนาวิชาการเพื่อส่งเสริมพืชกระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) และ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกันจัดงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง “พืชกระท่อม: พืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีนางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเป็นประธานในงานสัมมนานี้

ตามที่ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้สนับสนุนการวิจัยในลักษณะเป็นโปรแกรมวิจัยเชิงบูรณาการขนาดใหญ่ (Research Program) ในหัวข้อเรื่อง พืชกระท่อม: พืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย ที่มีศูนย์ความเป็นเลิศ ทั้ง 11 ศูนย์ ร่วมกันทำงานวิจัยโดยการบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมอย่างครบวงจร ส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ การใช้ประโยชน์ทั้งในทางการแพทย์และการบริโภคทั่วไป สร้างวัฒนธรรมใหม่ในการทำงานวิจัยร่วมกันของ 11 ศูนย์ความเป็นเลิศ (New Academic Culture) ในการบูรณาการศาสตร์และความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพื่อมุ่งตอบโจทย์ปัญหาอย่างครบวงจร (New Academic Order) ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ผู้ใช้ประโยชน์ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และผู้บริโภค ตลอดจนประชาชนทั่วไปให้มีความเข้าใจ และใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อม สำหรับส่งเสริมเป็นสินค้าส่งออกของประเทศ โดยมีโครงการวิจัย จำนวน 8 โครงการวิจัย ที่ตอบโจทย์ทั้ง Value Chain ของการส่งเสริมพืชกระท่อมสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย

นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม กล่าวว่า “การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพืชกระท่อม มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเห็นได้ว่าตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 วันที่รัฐบาลได้มีการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด จนถึงปัจจุบัน ประเทศสามารถเปลี่ยนพืชที่ผิดกฎหมาย แปลงสู่การสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้แก่ประเทศ ดังนั้น ตนจึงมีความเชื่ออย่างยิ่งว่า กระท่อมจะเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย ซึ่งการจัดงานในวันนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ทุกท่านจากหลากหลายสายงานได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดงานในครั้งนี้ นอกจากกิจกรรมที่ทุกท่านจะได้ร่วมในวันนี้ ดิฉันเชื่อว่ากิจกรรมนี้จะเป็นการสร้างสัมพันธภาพในแต่ละภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ เกษตรกร ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และภาคเอกชน อันจะเป็นการสร้างทีมวิจัยเชิงพาณิชย์สำหรับต่อยอดโครงการอื่นๆ ในอนาคต รวมทั้งการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์/สังคมร่วมกันต่อไป”

นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพ กล่าวว่าสำหรับงานสัมมนาวิชาการเรื่อง พืชกระท่อม : พืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย ในครั้งนี้เป็นการจัดตามมติที่ประชุมคณะทำงานบริหารโปรแกรมวิจัยพืชกระท่อม เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยภายใต้โปรแกรมวิจัยร่วมกับปราชญ์ชาวบ้าน เกษตรกรผู้ปลูกพืชกระท่อมในพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อทำให้ผู้ที่เข้าร่วมงานสัมมนาได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพืชกระท่อมที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของไทย สามารถเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์พืชกระท่อมตลอดห่วงโซ่คุณค่าได้ ตลอดจนการสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ เกษตรกร ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับการผลิตพืชกระท่อมสู่พืชเศรษฐกิจ ด้วยการนำองค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน พร้อมทั้งต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากสารสกัดพืชกระท่อมที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างครบวงจร”

รองศาสตราจารย์ ดร.วศิน สุวรรณรัตน์ รองอธิการบดีวิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวขอบคุณทางสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่ให้อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาด้านพืชกระท่อม และร่วมส่งเสริมกับหน่วยงานในพื้นที่หลายๆ หน่วยงานในการผลักดันงานวิจัยพืชกระท่อมอย่างสุดกำลัง เพื่อทำให้พืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทยอย่างแท้จริง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *