โรงพยาบาล ม.อ. พร้อมใช้ประสบการณ์การเฝ้าระวังโรคซาร์สและ MERS-CoV รับมือโคโรนาไวรัส

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศรัญญู ชูศรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงความพร้อมของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในการรับมือการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ว่า โรงพยาบาลมีระบบการเฝ้าระวังผู้ป่วยตั้งแต่ครั้งการระบาดของโรคซาร์ส และ MERS-CoV ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกัน ดังนั้นเราจะใช้ระบบการเฝ้าระวัง การคัดกรองผู้ป่วย การรักษา แบบเดียวกันและคณะผู้ทำการรักษาชุดเดียวกัน  ในการรองรับสถานการณ์ดังกล่าวโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ มีหน่วยการคัดกรองผู้ป่วยโดยหากมีผู้ป่วยที่เข้าข่ายเป็นผู้น่าสงสัยซึ่งมาจากเมืองอู่ฮั่น และมีอาการระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงจะถูกส่งไปคัดกรอง มีระบบส่งสิ่งส่งตรวจจากโรงพยาบาลไปส่วนกลาง และในอีกไม่นานนี้ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ก็จะสามารถตรวจได้เองโดยไม่ต้องส่งไปส่วนกลาง

ทางโรงพยาบาลมีระบบการประสานงานที่ดีกับ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในจังหวัดสงขลา คือโรงพยาบาลสงขลาและโรงพยาบาลหาดใหญ่ รวมทั้งเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน โดยใช้เกณฑ์เดียวกันในการส่งต่อผู้ป่วย การคัดกรองผู้ป่วย มีคณะแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการฝึกให้สามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ นอกจากนั้นยังมี “ห้องความดันลบ” ซึ่งสามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อในกรณีที่มีผู้ป่วยเข้ามา ถึง 13 ห้อง  ซึ่งโดยปกติจะใช้ในการผู้ป่วยกลุ่มวัณโรค ไข้หวัดใหญ่ และในจำนวนนั้นมี 8 ห้องที่เตรียมสำหรับผู้ป่วยอาการวิกฤติ ที่สามารถใส่ท่อช่วยหายใจ เครื่องพยุงชีวิต การติดตามสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด ซึ่งนับว่าพร้อมเต็มที่ในการดูแลผู้ป่วยจากเชื้อโคโรน่าไวรัส

แม้ในขณะนี้ (28 มกราคม 2563) ในจังหวัดสงขลายังไม่มีผู้ป่วยโรคดังกล่าว และประเทศจีนได้ยกเลิกการเดินทางออกนอกประเทศแล้ว แต่อาจจะมีผู้ป่วยจากประเทศอื่นที่เคยเดินทางไปเมืองอู่ฮั่นและประเทศอื่นๆ ที่มีผู้ป่วยในช่วงระยะเวลา 14 วัน ซึ่งอยู่ในระยะเฝ้าระวัง โดยเฉพาะการเดินทางไปในช่วงเวลาเทศกาลตรุษจีนอาจจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็มีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวของนักศึกษาต่างชาติ หรือนักศึกษาต่างชาติที่กลับบ้านช่วงตรุษจีน หรือนักศึกษาไทยที่เดินทางไปประเทศจีนและกำลังจะกลับเข้าประเทศ

“เราต้องมีการตื่นตัวแต่ไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป บริโภคข่าวสารอย่างมีสติ ควรใช้ข่าวสารของหน่วยงานทางการหรือที่เชื่อถือได้ในการส่งต่อ การปฏิบัติตัว กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ การใส่หน้ากากเมื่อเข้าที่ชุมชน การไม่เดินทางเข้าไปในที่ที่มีการระบาด การช่วยกันสังเกตอาการทั้งตนเองและผู้อื่น จะช่วยป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคได้ โดยทุกโรงพยาบาลจะพร้อมในการเฝ้าระวังและการดูแลผู้ป่วย”  ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าว