มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขับเคลื่อนชุมชนผ่านงานวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ม.สงขลานครินทร์ ร่วมวิจัยเพื่อขับเคลื่อน “สุราษฎร์ธานีเมืองสมุนไพร”

ดร.นิตยา  อัมรัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อขับเคลื่อนเมืองสมุนไพร และอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า การดำเนินการเพื่อสนองนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาสมุนไพรให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน โดยเปิดโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพร (Herbal City) จ.สุราษฎร์ธานี ได้นำร่องภายใต้วิสัยทัศน์ “สมุนไพรไทยเพื่อความมั่นคงทางสุขภาพและความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย” โดยให้มีการพัฒนาเมืองสมุนไพรแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

การดำเนินงานได้มีการทำงานร่วมและคณะนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ในหลายโจทย์วิจัย เช่น การวิจัยในการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์ การปลูก และปัจจัยที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของ “พืชสมุนไพรหัวร้อยรู” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงแขฑิตา  กาญจนโสภา ซึ่งฤทธิ์ของสารสกัดจากหัวร้อยรู มีผลต่อการยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคและเซลล์มะเร็ง โดยสารสกัดหยาบและสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากหัวร้อยรู รวมถึงการศึกษาสูตรอาหารที่เหมาะสมต่อการงอกของเมล็ดหัวร้อยรูในสภาพปลอดเชื้อ

               นอกจากนั้น ยังมีการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเห็ดแครงผง โดย ดร.พรพงษ์ สุทธิรักษ์ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเห็ดแครงผงต้นแบบ และศึกษาคุณค่าทางอาหารที่สำคัญของเครื่องดื่มเห็ดแครงผง เนื่องจากเห็ดแครงมีขึ้นอยู่ทั่วโลก อาจแตกต่างกันในแต่ละท้องที่ จากการศึกษาพบว่าสารสกัดที่ได้ในรูปของสารละลายมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ และมีโปรตีนและบีต้า-กลูแคนเป็นส่วนประกอบเมื่อทำแห้งแล้วได้ลักษณะของสารสกัดเป็นผง

นักวิจัย ม.สงขลานครินทร์ พัฒนาการจัดการอุทกภัยอย่างยั่งยืนในพื้นที่เกาะสมุย

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ร่วมมือเทศบาลนครเกาะสมุย  หาแนวทางการพัฒนาการจัดการอุทกภัยอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤษฎา พรรณราย คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาในพื้นที่เกาะสมุยได้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์และก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจนับหลายร้อยล้านบาท เทศบาลนครเกาะสมุย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้ขอความช่วยเหลือมายังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อให้ได้แนวทางการพัฒนาการจัดการอุทกภัยอย่างยั่งยืนในพื้นที่เกาะสมุย อันจะนำไปสู่การดำเนินการจัดการอุทกภัยในพื้นที่เกาะสมุยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

จากการวิจัยพบแนวทางการจัดการประกอบด้วยปัจจัยสำคัญคือ ต้องมีการการพัฒนาด้านโครงสร้างและปัจจัยด้านระบบ ซึ่งจะต้องใช้แนวคิดทางวิชาการเรื่องการจัดการปกครอง เข้ามานำเสนอและกระตุ้นให้เกิดการทำงานร่วมกัน และเน้นไปที่การทำงานร่วมกัน

ม.อ. สุราษฎร์ธานี พัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนบนเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ผ่านสื่อการตลาดแบบดิจิตอล

เส้นทางท่องเที่ยวสายสุราษฎร์ธานี – เขื่อนรัชประภา เป็นหนึ่งในเส้นทางการท่องเที่ยวที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยมากเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ความต้องการสัมผัสธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชนอย่างแท้จริง โดยมีจุดขายหลักอยู่ที่เขื่อนรัชประภา ภายในอุทยานแห่งชาติเขาสก ซึ่งมีธรรมชาติสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ มีการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนมีส่วนร่วม แต่บนเส้นทางการท่องเที่ยวเส้นนี้ นอกจากธรรมชาติอันงดงามแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตสมุนไพรคุณภาพสูงของจังหวัดสุราษฎร์ธานีอีกด้วย

ดร. ชูศักดิ์  ชูศรี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และทีมนักวิจัย ได้ดำเนินการศึกษาความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มีต่อผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน พัฒนาสื่อ Digital marketing รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้าน Digital marketing ให้กับวิสาหกิจชุมชนที่อยู่บนเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สุราษฎร์ธานี – เขื่อนรัชชประภา 

นอกจากนี้การพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนบนเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จะช่วยสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาในการท่องเที่ยวภายในประเทศไทยนานขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

“บล็อกยางพารา” การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ที่ ม.สงขลานครินทร์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน

ดร.จุฑารัตน์ อินทปัน สาขาวิชาเทคโนโลยียาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา คือการสนับสนุนให้มีการนำยางพาราและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น โดยจะจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ที่จากยางพาราและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรขึ้น ซึ่งในระยะแรกมีแนวคิดจะนำยางธรรมชาติและวัสดุพลอยได้จากภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมจำพวกชีวมวลเหลือทิ้ง มาเพิ่มการใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าของยางพาราให้สูงขึ้นและเกิดประโยชน์สูงสุดในด้านเศรษฐกิจ โดยการนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการปรับปรุงคุณสมบัติใน 3 ผลิตภัณฑ์ คือบล็อกยางยางพาราปูพื้น บล็อกโฟมยางพารา และบล็อกคอนกรีตมวลเบา

โครงการศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรและอุตสาหกรรมขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิต ทั้งในด้านทฤษฎี กระบวนการผสมสารเคมี กระบวนการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์และการทดสอบสมบัติของผลิตภัณฑ์จริง การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้เกษตรกรนำยางพาราและวัสดุเหลือใช้ โดยการส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์แทนที่จะนำไปเผาหรือทิ้ง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการกำจัดและปัญหาทางด้านสภาวะแวดล้อมตามมา จะทำให้มีการเพิ่มการจ้างงาน และลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศในการส่งออกยางพาราดิบ และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบทางการเกษตรด้วย

โพสต์ไว้ที่: News เก็บเข้าไฟล์ไว้ที่: