ปัญหาราคายางพาราตกต่ำในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้ทั้งภาคก่อสร้าง ภาคเกษตรกรรม โรงงานอุตสาหกรรม โดยคณะนักวิจัย ในหลายคณะ ทุกวิทยาเขต ได้มีการประสานงานกันเพื่อศึกษาวิจัยการแปรรูปยางพารามาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ยางเพื่อสุขภาพ เช่น หมอนยาง ที่นอน แผ่นยางสำหรับปูพื้นบ่อหรือสระเก็บน้ำ และถนนยางพารา เป็นการเพิ่มมูลค่ายางพารา เพื่อแก้ไขปัญหายางพาราของประเทศได้อย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคง และมั่งคั่ง ให้กับภาคเกษตรกรรมยางพาราของประเทศ
ผลงานการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมถนนยางพาราแอสฟาติก ถนนทศพาราวิถี และ เบญจพาราวิถี ซึ่งเป็นผลงานของ รองศาสตราจารย์ ดร.เจริญ นาคะสรรค์ และคณะ ในการนำยางพารามาใช้ประโยชน์ โดยถนนทั้ง 2 เส้นมีส่วนผสมของยางพารากับแอสฟัลต์คอนกรีต ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน โดยถนนเบญจพาราวิถี มีส่วนผสมของยางพารา ร้อยละ 5 และ ถนนทศพาราวิถี มีส่วนผสมของยางพารา ร้อยละ 10 และเป็นถนนเส้นแรกที่ใช้ส่วนผสมของยางพารามากที่สุดในประเทศไทย
ปัจจุบันถนนหลายสายที่สร้างโดยมีส่วนผสมของยางพารากับแอสฟัลต์คอนกรีต จะมีส่วนผสมของยางอยู่ไม่เกิน ร้อยละ 5 และใช้น้ำยางพาราเป็นส่วนผสม แต่นักวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ซึ่งทำวิจัยและทำงานเรื่องยางพารามายาวนาน ได้มีการศึกษาส่วนผสมในรูปแบบใหม่ คือ เปลี่ยนเป็นใช้ “ยางแห้ง” เป็นส่วนผสมแทนน้ำยางโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ เพราะจากการศึกษาการผสมระหว่างยางกับแอสฟัลท์นั้น น้ำไม่ได้มีประโยชน์ในกระบวนการผสมดังกล่าว ดังนั้นการใช้เนื้อยางอย่างเดียวเพื่อหลอมผสมกับแอสฟัลท์ ซึ่งเป็นการนำพอลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมาหลอมละลายเข้าด้วยกันทำให้สามารถผสมยางได้มากขึ้นกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ และจากการทดลองใช้งาน ถนนที่มีส่วนผสมยางพารามากจะมีความนุ่มนวลในการขับขี่ และระยะเบรกจะสั้นกว่า ส่วนความคงทนและคุณสมบัติอื่นๆ เป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลาติดตามผลต่อไป และจะมีการติดต่อให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้ามาตรวจสอบคุณภาพถนนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเก็บข้อมูลและกำหนดมาตรฐานในโอกาสต่อไป
ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นของยางพาราทางด้านความแข็งแรงและความยืดหยุ่น ดร.สกุลรัตน์ พิชัยยุทธ์และคณะ ได้วิจัยเพื่อนำยางพาราไปใช้เป็นวัสดุในการปูสระน้ำที่มีคุณสมบัติที่ดีกว่าวัสดุเดิม ที่เคยใช้ยางแผ่น หรือพลาสติกทั่วไปซึ่งต้องผ่านกรรมวิธีรีดแผ่นภายในโรงงานก่อนและต้องขนย้ายวัสดุปูที่มีขนาดและน้ำหนักมาก องค์ความรู้สำคัญจากงานวิจัยและเทคโนโลยีในการปูสระน้ำนี้ ประกอบด้วยสูตรหรือส่วนผสมของน้ำยางพาราชนิดครีมที่ผสมสารเคมีที่ไม่ก่อมลพิษลงไป สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบปูหรือเคลือบสระ และมีกรรมวิธีการปู เคลือบสระด้วยวิธีฉีดพ่น ซึ่งเป็นวิธีที่แตกต่างจากการปูสระแบบเดิม เป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ จากน้ำยางธรรมชาติเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตร เทคโนโลยีผ่านการทดสอบทั้ง ในด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของน้ำที่กักเก็บในบ่อ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางและเพิ่มมูลค่ายางพาราแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมในการเก็บกักน้ำ หรือ ทำเป็นบ่อกำจัดน้ำเสียได้