ฟังเสียงเยาวชนสะท้อนปัญหาและข้อเสนอพัฒนาเมืองหาดใหญ่

พื้นที่ 21 ตารางกิโลเมตรของเทศบาลนครหาดใหญ่ หากนับนิ้วเร็วๆ จะเห็นว่าประกอบด้วยสถานที่สำคัญต่อการเรียนรู้และเติบโตของเยาวชนและคนทุกกลุ่ม ทั้งสถาบันการศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบันกวดวิชา ห้องสมุด ศูนย์การเรียนรู้ สวนสาธารณะขนาดใหญ่ติดเขาคอหงส์ 

คงไม่เกินเลยไปหากจะกล่าวว่าต้นทุนเหล่านี้ หากพัฒนาและบริหารอย่างเต็มศักยภาพแล้ว พร้อมส่งต่อให้หาดใหญ่เป็นเมืองสำหรับโอกาสพื้นที่เรียนรู้ และการใช้ชีวิต

ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ผู้สมัครตั้งเวทีหาเสียงและเสนอแนวนโนบาย เราชวนกลับมาย้อนมองมุมมองของเยาวชนที่มีต่อหาดใหญ่ รวมถึงข้อเสนอและเมืองที่เยาวชนและคนรุ่นใหม่อยากเห็นและเป็นไป

เวทีเยาวชน ‘อนาคตหาดใหญ่ที่เราต้องการ’

วันที่ 27 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ในงานเสวนา ‘อนาคตหาดใหญ่ที่เราต้องการ’ เวทีภาคประชาชนร่วมนำเสนอประเด็น ข้อเสนอแนะแนวนโยบายต่อสาธารณะและผู้สมัครรับเลือกตั้งเทศบาลนครหาดใหญ่ จัดขึ้น ณ ห้างลี การ์เดนส์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เข้าร่วมโดยตัวแทนภาคประชาชนและนักวิชาการ

คุณธนภัทร ไข่เกิด ตัวแทนเยาวชนในโครงการ เยาวชนสื่อสารสร้างสรคค์เมือง หรือ Hatyai Scenario เป็นหนึ่งในผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น จากการจัดกิจกรรมที่ชื่อว่า ‘Youth Forum’ หรือ กิจกรรมฟังเสียงเยาวชน ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ ‘อนาคตหาดใหญ่ที่เยาวชนต้องการ’ เพื่อรับฟังเสียงเยาวชนในพื้นที่อ.หาดใหญ่ต่อการพัฒนาเมือง และได้ข้อสรุปมานำเสนอในวงเสวนาครั้งนี้ 

3 คำถาม ชวนเยาวชนสะท้อนชีวิตในเมืองหาดใหญ่

คุณธนภัทร กล่าวว่าในวงเสวนา Youth Forum นั้น ตั้งคำถามต่อผู้เข้าร่วมไว้ 3 คำถามต่อเนื่องจากเมืองหาดใหญ่ ได้แก่ 

หนึ่ง ‘หาดใหญ่น่าอยู่แค่ไหน’ 

สอง ‘หาดใหญ่เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้จริงหรือไม่’ 

และ สาม ‘หาดใหญ่เป็นเมืองแห่งอนาคตสำหรับคนรุ่นใหม่จริงหรือไม่?’ เพื่อเป็นประเด็นตั้งต้นต่อยอดสู่การร่วมหาข้อเสนอ

ตัวแทนเยาวชนกล่าวถึงข้อสรุปจากการฟังเสียงเยาวชนว่า แม้เยาวชนที่เข้าร่วมในกิจกรรมจะมองว่าเมืองหาดใหญ่นั้นน่าอยู่ มีวัฒนธรรม ผู้คนที่เป็นมิตร แต่ยัง “ขาดพื้นที่ในการ ใช้ชีวิต เรียนรู้และพัฒนา” รวมถึงประเด็นด้านการบริหารเมืองซึ่งจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ 

ในด้านการศึกษาและเมืองแห่งการเรียนรู้นั้น เสียงจากเยาวชนมองว่าปัจจัยที่เอื้อต่อการเรียนรู้ในเมืองยังกระจายไม่ทั่วถึงในพื้นที่เมืองหาดใหญ่ พร้อมกล่าวว่ามีเยาวชนบางกลุ่มในวงคุยมองว่าแนวคิดต่อการศึกษาในปัจจุบันเป็นเหมือน “การแข่งขัน” หรือ “การลงทุน” ที่เข้าถึงด้วยต้นทุนที่สูง ต่างจากการเรียนรู้เพื่อเป็นพื้นฐานของชีวิต 

ในคำถามที่สาม เรื่องเมืองแห่งอนาคตสำหรับคนรุ่นใหม่นั้น คุณธนภัทรกล่าวว่า เยาวชนและคนรุ่นใหม่ในวงคุยมองว่าโอกาสในการประกอบอาชีพหรือทำธุรกิจในเมืองหาดใหญ่ต้องมีต้นทุนที่ดี รวมถึงต้องมีเครือข่ายการประกอบธุรกิจที่กว้างขวาง  

“ยังมีแนวคิดที่ยังปิดกั้นโอกาส (การประกอบธุรกิจของคนรุ่นใหม่) รวมถึงการเมืองท้องถิ่นที่ยังมีข้อจำกัด” คุณธนภัทรกล่าวสะท้อนเสียงของเยาวชนที่มองว่าโอกาสการประกอบธุรกิจยังกระจุกตัวอยู่ที่เครือข่ายธุรกิจเดิม 

ภาพ: หาดใหญ่เมืองสำหรับทุกคน

ข้อเสนอจากเยาวชน

คุณธนภัทรกล่าวถึงข้อเสนอของกลุ่มเยาวชนในด้านการศึกษา เช่น คอร์สเรียนฟรีที่เข้าถึงได้จริง ทั้งทักษะทางวิชาการและวิชาชีพ, การปรับเปลี่ยนแนวคิดว่าวัตถุประสงค์ของการศึกษาคือเป็นไปเพื่อสร้างรากฐานของชีวิต, สร้างพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ๆ และ การแก้ไขปัญหาปัญหาเด็กออกนอกระบบราว 4,000 คนใน อ.หาดใหญ่ 

“อยากให้มีการพัฒนาทั้งเมืองและคนไปด้วยกัน รวมถึงเปิดพื้นที่สำหรับเยาวชนแสดงความคิดเห็น และนำเสนอนโยบาย แนวทางการแก้ปัญหาของเมืองจากชุมชน” คุณธนภัทรกล่าว 

ด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคนั้น กลุ่มเยาวชนยกปัญหา 3 ด้านได้แก่ การประปา ถนน และ ขยะ ซึ่งประกอบด้วยประเด็นการเปิด-ปิดน้ำประปาโดยไม่แจ้งล่วงหน้าหรือผ่านช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย รวมถึงข้อเสนอเพิ่มช่องทางการร้องเรียนปัญหาและติดตามการแก้ไขปัญหา และเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะที่สะอาด รวมถึงมีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ใช้งานได้จริงและเข้าถึงได้ง่าย

ปัญหาการจราจรและ “มาเฟีย” คุณธนภัทรกล่าวคำจำกัดความว่าหมายถึงกลุ่มคนที่ปิดกั้นการใช้ประโยชน์ของพื้นที่สาธารณะส่งผลต่อความเดือดร้อนของผู้มาใช้งาน พร้อมกล่าวว่ากลุ่มเยาวชนเสนอว่าอยากเห็นบทบาทของภาครัฐกำหนดมาตรการและบทลงโทษที่ชัดเจน 

“เยาวชนไม่ได้ต้องการเมืองที่ไม่มีปัญหา แต่ต้องการเมืองที่พร้อมจะรับฟัง เปลี่ยนและเติบโตไปด้วยกัน” ตัวแทนเยาวชนกล่าวทิ้งท้าย

คุณธนภัทร ไข่เกิด ตัวแทนเยาวชนกลุ่ม Hatyai Scenario

เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพปก: แฟ้มภาพ/ภานิชา ปณัยเวธน์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *