“เรียนรู้วิถีตาลโตนด” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสู่เมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา ร่วมกับศูนย์อาเซียนศึกษา ดร.ถนัด คอมันตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมที่เชื่อมโยงกับอาหารร่วมกับเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสู่เมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารจังหวัดสงขลา เพื่อสร้างการรับรู้การขับเคลื่อนสงขลาสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารขององค์การยูเนสโก

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 ที่ บ้านทำนบ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา นำโดย ผศ.ดร.สุพัตรา เดวิสัน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการอาเซียนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมคณะศึกษาดูงาน ลงพื้นที่สำรวจวิถีดงตาลคาบสมุทรสทิงพระ เยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำตาลเหลว การศึกษาเพศตาล ลักษณะทรงพุ่ม ลักษณะการเจริญเติบโต การเก็บเกี่ยว และกระบวนการผลิตตาลในวิถีครัวเรือน พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ประกอบการในชุมชนปากหาร ตำบลสทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา เพื่อศึกษาภูมิปัญญา ศักยภาพ คุณภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจของชุมชน รวมถึงเยี่ยมชมการนำน้ำตาลเข้มข้นแปรรูปสู่การผลิตอาหาร เช่น ขนมปำ ฯลฯ ที่ชุมชนสทิงหม้อ ชุมชนบ้านสายลำเท็ง และเรียนรู้การผลิตน้ำตาลแว่นเพื่อการค้าและการส่งออก ที่ชุมชนบ้านเก้าบ่อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา

และในวันที่ 25 กรกฎาคม 2568 มีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม ที่เชื่อมโยงกับอาหารร่วมกับเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสู่เมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารจังหวัดสงขลา ณ ห้องประชุมเสียงสน โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ภายในงานมีการบรรยายหัวข้อ “เราจะร่วมกันขับเคลื่อนสงขลาสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ด้านวิทยาการอาหารของยูเนสโกได้อย่างไร?” โดย คุณสมเกียรติ อำนวยสุวรรณ รองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และเสวนาหัวข้อ “วิถีตาลโตนดในประเทศไทย” ประกอบด้วย

– วิถีตาลโตนดสงขลา โดย คุณบุญเลิศ จันทระ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

– วิถีตาลโตนดสงขลา โดย คุณบัณฑิต หนูเพชร กลุ่มหัตถกรรมใยตาลสทิงพระ (โหนดทิ้ง)

– วิถีตาลโตนดเพชรบุรี โดย คุณอุดมเดช เกตุแก้ว ผู้แทนเมืองเพชรบุรี

– วิถีตาลโตนดพิษณุโลก โดย รศ.ดร.มุทิตา มีนุ่น คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ดำเนินการเสวนาโดย ผศ.ดร.สุพัตรา เดวิสัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อีกทั้งยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ แบ่งกลุ่มและแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมและอาหารที่เชื่อมโยงกับอาหารจากตาลโตนด ประกอบด้วย 3 กลุ่มดังนี้

กลุ่มที่ 1 พัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมที่เชื่อมโยงกับอาหารจากตาลโตนด

– คุณนันทพัทธ์ กรดเต็ม ตัวแทนจาก แบรนด์นันทะธาดา จ.พัทลุง

– คุณอินทัช หงส์ทอง ตัวแทนจากแบรนด์โหนดศิลป์ จ.สงขลา

กลุ่มที่ 2 พัฒนาอาหารจากตาลโตนด

– คุณมกรธวัช กุลหทัย ร้าน Lyn’s The Shanghai Café

– คุณอุดมเดช เกตุแก้ว ผู้แทนเมืองเพชรบุรี

กลุ่มที่ 3 พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากตาลโตนด

– รศ.ดร. มุทิตา มีนุ่น คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

– คุณสิปนนท์ ชายแก้ว วิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา ผู้แทนเมืองยะลา

กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม ที่เชื่อมโยงกับอาหารร่วมกับเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสู่เมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารจังหวัดสงขลา เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ภูมิปัญญาด้านอาหารและศิลปหัตถกรรมของเมืองสร้างสรรค์และเมืองที่เตรียมความพร้อมในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากตาลโตนดที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน พร้อมชูอัตลักษณ์อันโดดเด่นสู่ระดับนานาชาติ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *