หากพูดถึงทุเรียน ผู้คนจำนวนหนึ่งคงจะนึกทุเรียนหมอนทองเนื้อเยอะ ก้านยาวเนื้อละมุน หรือทุเรียนสายพันธุ์ดัง ๆ ตามท้องตลาด แต่อีกมุมนึงของพื้นที่อันกว้างใหญ่ ยังมีทุเรียนพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดดเด่น ทั้งรสชาติที่มีความหวานมัน กลิ่นหอม สีเนื้อหลากหลายเฉดตั้งแต่สีเหลืองเข้ม สีส้ม หรือขาวครีม และรูปลักษณ์ของผลที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ด้วยความหลากหลายทางพันธุกรรมและพัฒนาการตามธรรมชาติ
ทุเรียนพื้นบ้านส่วนใหญ่เป็นต้นที่เกิดจากการปลูกด้วยเมล็ด ทำให้แต่ละต้นมีพันธุกรรมแตกต่างกัน หลายสายพันธุ์มีอายุมากกว่า 50–100 ปี และอยู่ในระบบสวนผสมกับพืชเศรษฐกิจอื่น เป็นมรดกทางชีวภาพที่รอการพัฒนาเป็นสายพันธุ์เด่นในอนาคต

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 ได้เกิดเวทีประชันทุเรียนพื้นบ้าน โดยศูนย์วิจัยพืชยืนต้นและไม้ผลเมืองร้อน คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งจัดการประกวดทุเรียนพื้นบ้านเป็นปีที่ 4 โดยได้รับพระกรุณาจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ประทานถ้วยรางวัลให้แก่ผู้ชนะการประกวดรางวัลที่ 1
ในปีนี้พบทุเรียนสายพันธุ์ดี เอกลักษณ์เด่น กว่า 20 สายพันธุ์ และมีเกษตรกรส่งเข้าประกวดจากจังหวัดพัทลุง ยะลา และสงขลา โดยได้รับเกียรติผู้ทรงคุณวุฒิภายในและภายนอกเป็นคณะกรรมการในการตัดสิน ได้แก่ คุณศิริกุล ศรีแสงจันทร์ อดีตผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานการส่งเสริมการเกษตรที่ 5 จังวัดสงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร (ข้าราชการบำนาญ) คุณสยามล แก้วบรรจง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส รศ.ดร. จรัสศรี นวลศรี ผศ.ดร.กรกช นาคคนอง ดร.ปฎิมาพร ปลอดภัย จากคณะทรัพยากรธรรมชาติ
ทั้งนี้ ผลการตัดสินพิจารณาจากข้อกำหนดผลผลิตทุเรียนพื้นบ้านที่ส่งเข้าประกวด คือ ต้องไม่ผ่านการบ่มหรือรมควัน ไม่ผ่านการแปรรูป ไม่เคยได้รับรางวัลใดๆ มาก่อน และต้องเป็นของเกษตรกรผู้ส่งเข้าประกวดโดยตรง ทั้งนี้คุณสมบัติเด่นของการประกวด คือ ขนาดของผลผลิต รูปร่าง ความสมบูรณ์ของผล ความหนา-บาง ของเปลือก เนื้อ-รสชาติ สี เมล็ด และความสมบูรณ์ของเนื้อ

สำหรับผลการประกวด มีดังนี้
– รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทุเรียน “พิกุลกลิ่น (ก)” นายฮัมหมัด พิกุลกลิ่น อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ได้รับรางวัลถ้วยประทาน พร้อมเงินรางวัล จำนวน 3,000 บาท
– รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ทุเรียน “ทองหยด” นายสเผน บุญสิทธิ์ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล จำนวน 2,000 บาท
– รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทุเรียน “ทองลุงศักดิ์” นายสอนศักดิ์ สิทธิชัย อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล จำนวน 1,000 บาท
– รางวัลชมเชย ได้แก่ ทุเรียน “กาจิบาจูมัส” คุณอิสมานี แวละไล อ.ยะหา จ.ยะลา, ทุเรียน “ทองมรกต” คุณมะหนับ เหมาะทอง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา และ ทุเรียน “ไอ้ปลวก” คุณนาด แดงคง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล จำนวน 500 บาท






.
คณะทรัพยากรธรรมชาติโดยศูนย์วิจัยพืชยืนต้นและไม้ผลเมืองร้อน ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าคณะทรัพยากรธรรมชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของไม้ผลเศรษฐกิจของภาคใต้ จึงได้ดำเนินการจัดโครงการประกวดไม้ผลภาคใต้ ได้แก่ทุเรียน และส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาการผลิตไม้ผล สร้างมาตรฐานคุณภาพของไม้ผลในภาคใต้ นอกเหนือจากการส่งเสริมคุณภาพเชิงการค้า ผลักดันและเพิ่มมูลค่าทรัพยากรพื้นถิ่น ยังช่วยให้เกษตรกรตระหนักถึงคุณค่า ควรแก่การอนุรักษ์ให้เป็นอัตลักษณ์ ประจำถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าและยกระดับไม้ผลให้เป็นพืชเศรษฐกิจเฉพาะถิ่นเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สร้างรายได้ ให้แก่เกษตรกรที่ยั่งยืนต่อไป




