จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่หลายฝ่ายต่างพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยกันเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น ในนาทีนี้คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญผู้ทุ่มเทในการวางจัดระบบและวางแผนรับมือการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 และเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข้อมูลการแพร่ระบาดและตอบข้อซักถามแก่สื่อมวลชนรายวัน
นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ เป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพราะท่านเป็นนักเรียนแพทย์รุ่นที่ 13 ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่บ่มเพาะทรัพยากรมนุษย์และผลิตศิษย์เก่าที่มีคุณภาพออกไปสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติมาเป็นเวลา 52 ปีแล้ว
นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อปี 2528 ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ยังเป็นคณะใหม่ และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เพิ่งเปิดบริการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเปิดได้ไม่นาน แม้ในช่วงเวลานั้นโรงพยาบาลสงขลานครินทร์และคณะแพทยศาสตร์มีความพร้อมค่อนข้างมาก แต่ก็ยังไม่ทัดเทียมกับโรงเรียนแพทย์ในกรุงเทพมหานคร แต่ในความเป็นคณะใหม่จึงมีคณาจารย์ส่วนใหญ่ที่เป็นอาจารย์รุ่นใหม่ และมีอาจารย์บางท่านเป็นอาจารย์อาวุโส จึงนับเป็นส่วนผสมที่ดีของอุดมการณ์ ปัญญา ความกระตือรือร้นใฝ่รู้ อาจารย์มีความตั้งใจและทุ่มเทในการสอน ตั้งใจทำงานเพื่อคนไข้ ตั้งใจทำงานเพื่อประชาชนในพื้นที่ ท่านเหล่านั้นเป็นแบบอย่างที่ดีและแต่ละท่านก็เป็นแบบอย่างในเรื่องที่ต่างกัน
“สิ่งหนึ่งที่สะดุดใจผมมานานมากแล้ว ในหนังสือรุ่นที่เราทำกันเอง ตอนที่ผมอ่านครั้งแรกผมไม่ค่อยเข้าใจ ท่านอาจารย์ธาดา (ศาสตราจารย์นายแพทย์ธาดา ยิบอินซอย) ได้เขียนในทำนองที่ว่า คนเราเติบโตขึ้นมามีอยู่ 2 รูปแบบ แบบแรกคือ Model Dependent คือเราเห็นใครเป็นตัวแบบเราก็ลอกเป็นแบบนั้นเลย และอีกแบบคือ Model Free คือ เราก็ลอกแบบเหมือนกัน แต่เราไม่ได้ลอกแบบทุกอย่างของคนๆ เดียว แต่เลือกเอาความคิดและความประพฤติที่ดีของแต่ละคนมาประกอบกันเป็นตัวเรา ซึ่งจริงๆ หลายอย่างในตัวผมเองก็ได้รับมาจากการปลูกฝังโดยครอบครัว พ่อแม่ คุณปู่ที่เป็นต้นแบบที่ดีของผม ประสบการณ์จากโรงเรียน และโดยเฉพาะคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้ให้ประสบการณ์และมีแบบอย่างที่ดีมากมาย”
ช่วงเวลาที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นช่วงเวลาที่ “คุณหมอธนรักษ์” มีความสุขมากที่สุดในชีวิตช่วงหนึ่ง เพราะได้เรียนรู้ ได้เจอคนดีๆ ได้เห็นแบบอย่างที่ดี และสามารถนำเอาต้นแบบที่ดี เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในชีวิต ทำให้ตัวท่านและเพื่อนๆ หลายคนได้ซึมซับเอาอุดมการณ์เหล่านั้นมาเป็นต้นแบบที่ทำให้เติบโตมาและเป็นอย่างที่เราเป็นทุกวันนี้
การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย กลุ่มเพื่อนมีส่วนสำคัญเพราะช่วงนั้นคณะแพทยศาสตร์มีนักเรียนแพทย์ประมาณ 80 คน และรู้จักใกล้ชิดกันมาก ได้เรียนรู้ ได้ประสบการณ์ และประคับประคองกันไป อีกส่วนหนึ่งคือผมชอบบรรยากาศของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีและสวยงาม ห้อมล้อมด้วยต้นไม้ ตอนเย็นก็สามารถเดินเล่นริมอ่างน้ำ ซึ่งสิ่งที่เอื้อให้พบความสำเร็จจากการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ใช่เพียงครูผู้สอนและสถาบัน แต่รวมถึงสภาพแวดล้อม กฎระเบียบของมหาวิทยาลัย การใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนทั้งในคณะและต่างคณะ องค์ประกอบเหล่านี้มีส่วนเอื้อให้เราได้เติบโตก้าวหน้าทั้งสิ้น
“ผมขอพูดว่าที่ผ่านมาผมภูมิใจที่ได้เรียนที่สงขลานครินทร์ สิ่งที่ผมคิด สิ่งที่ผมทำ ผมรู้สึกว่าสถาบันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราเติบโตมาถึงทุกวันนี้ เวลาที่ผมเขียนโพสเฟสบุ๊ค ผมก็จะเขียนด้วยความภาคภูมิใจว่า ศิษย์ดีเพราะมีครู ซึ่งครูในที่นี้ส่วนหนึ่งก็หมายถึง ครูแพทย์ สมัยที่ผมเป็นนักเรียนแพทย์ และก็หมายถึงรุ่นพี่ที่สงขลานครินทร์ เพื่อนๆ ที่อยู่ด้วยกันมา และหลายคนก็มีอิทธิพลต่อความคิดของผมมาจนถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นความเป็นพี่เป็นน้อง ความเป็นสถาบัน ความเป็นแหล่งเพาะภูมิปัญญา เป็นส่วนที่สำคัญยิ่งกับพวกเราและตัวผม ทุกวันนี้ มีเพื่อนรุ่นเดียวกับผมอยู่หลายคนที่จบสงขลานครินทร์ด้วยกันและร่วมกันทำงานโควิดเพื่อคนไทยทุกคนอย่างเต็มกำลังความสามารถ”
ภายใต้บทบาทของการเป็นข้าราชการและแพทย์ การทำงานในสถานการณ์ที่มีความกดดันและความรับผิดชอบต่อคนทั้งประเทศอย่างเช่นปัจจุบันนี้ การเห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุด งานต่างๆ ที่ทำควรยึดหลักการนี้ แต่หลายๆ ครั้งที่เรามีปัญหา จะพบว่าปัญหามักจะเกิดจากการที่เราไม่ได้เอาประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นตัวตั้ง แต่เราไปมองเห็นประโยชน์ส่วนตน ประโยชน์ขององค์กรสถาบัน หรือประโยชน์อย่างอื่นเป็นสำคัญ เมื่อไรก็ตามที่เราวางผลประโยชน์ส่วนตน ละวางตัวตนลง ปัญหาและความวุ่นวายก็จะน้อยลง
ดังนั้น คำสอนขององค์สมเด็จพระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ที่ “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” คือสิ่งที่ “คุณหมอธนรักษ์” ได้ยึดเป็นหลักประจำใจในการทำงานตลอดมา