ทีมนักวิจัยสงขลานครินทร์ สร้างเครื่องวัดอุณหภูมิระยะไกลด้วยแสงอินฟราเรด ช่วยแพทย์ทราบอุณหภูมิร่างกายผู้ป่วย COVID-19 ผ่านระบบออนไลน์

การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อและเสียชีวิตกันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งบุคลากรทางการแพทย์ต้องรับศึกหนัก เพราะมียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกวัน ในพื้นที่ภาคใต้โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นหน่วยงานที่ดูแลผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสดังกล่าว และได้เปิดโรงพยาบาลสนามต้นแบบการจัดสถานที่เพื่อดูแลพักฟื้นผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการขาลงแห่งแรกในประเทศไทย คือโรงพยาบาลสงขลานครินทร์สาขา 2 จังหวัดสงขลา และโรงพยาบาลสนามจังหวัดภูเก็ต ซึ่งรูปแบบการคัดกรองผู้เข้าออกโรงพยาบาลนั้น ใช้การวัดอุณหภูมิด้วยเครื่องเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้อินฟราเรด โดยใช้บุคลากรทางการแพทย์ 1 ท่านยืนประจำตำแหน่งและใช้เครื่องมือเพื่อวัดอุณหภูมิโดยมีระยะห่าง 2-4 เซนติเมตร ถือว่าเป็นหน้าที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตนนท์ บูรณชัย และทีมนักวิจัยศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านการวิเคราะห์สารปริมาณน้อยและไบโอเซนเซอร์  คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงมีแนวคิดในการพัฒนาเครื่องวัดอุณหภูมิระยะไกลด้วยแสงอินฟราเรด โดยทีมวิจัยมีความสามารถในการพัฒนาอุปกรณ์เซ็นเซอร์ขนาดกะทัดรัดที่สามารถใช้งานนอกสถานที่ได้ ผนวกกับองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีขึ้นรูปสามมิติ ตลอดจนการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์มารวมไว้ในอุปกรณ์ขนาดเล็ก โดยเครื่องรูปแบบแรก มีขั้นตอนการใช้งาน คือ ผู้ที่ต้องการวัดอุณหภูมิสามารถเดินเข้าหาตัวเครื่องด้วยตนเอง โดยทิ้งระยะประมาณ 2 – 4 เซนติเมตร เพื่อให้เซ็นเซอร์ของเครื่องทำงานโดยส่งสัญญาณไปยังเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้อินฟราเรด และผู้วัดอุณหภูมิสามารถอ่านค่าอุณหภูมิร่างกายได้ด้วยตัวเอง เครื่องรูปแบบแรกนี้ได้นำไปใช้จริงที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์แล้ว ซึ่งได้ผลออกมาดี ลดจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องมายืนตรวจวัด

และเมื่อมีการเปิดโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สาขา 2 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนาม จังหวัดสงขลา ณ ณ อาคารติณสูลานนท์ ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ สวยประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์  ทีมนักวิจัยจึงได้โจทย์การพัฒนาเครื่องดังกล่าว โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตนนท์ ได้กล่าวว่า “ส่วนที่โรงพยาบาลสนามจังหวัดสงขลา อาจารย์นายแพทย์ชนนท์ กองกมล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ แจ้งว่าในสถานการณ์ที่ใช้กันอยู่ในหอผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์สาขา 2 ผู้ป่วยจะต้องอยู่ในส่วนที่พักผู้ป่วยโดยเฉพาะ ฉะนั้น ค่าที่อ่านได้จำเป็นต้องปรากฏอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่แพทย์สามารถเข้าถึงได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปดูที่เครื่องวัด จึงเป็นที่มาของการที่เราจะต้องพัฒนาให้ค่าอุณหภูมิที่วัดได้ถูกส่งผ่านเครือข่าย wifi ไปปรากฏอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของแพทย์ และประมวลผลร่วมกันกับข้อมูลจากเครื่องมือชนิดอื่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตนนท์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ขอเรียนให้ทราบว่า เครื่องวัดอุณหภูมิที่พัฒนาขึ้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะใช้แทนที่อุปกรณ์ตัวไหนโดยตรง แต่เรามองถึงช่องว่างที่สามารถเติมเต็มได้และยังมีความต้องการของโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ยังไม่มีความพร้อมทางด้านกำลังเงินและกำลังคนมากนัก เพราะอุปกรณ์ที่ทีมนักวิจัยพัฒนา มีราคา 2,500 บาทต่อ 1 เครื่องเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ได้เป็นราคาที่เกินเอื้อมสำหรับโรงพยาบาลทั่วๆ ไป และเรื่องของกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญหากเราสามารถช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้มีขวัญและกำลังใจที่ดี ลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ เขาจะมีแรงและกำลังใจที่จะมาช่วยแก้ปัญหาหรือรักษาโรค การที่ทีมได้คิดพัฒนาในประเด็นนี้เปรียบเสมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือนอกจากจะช่วยเพิ่มขวัญและกำลังใจช่วยลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรที่ประจำจุดคัดกรองแล้ว ยังสามารถทำให้บุคลากรทางการแพทย์ดังกล่าวสามารถมีเวลาทำงานอย่างอื่นที่อาจจะสำคัญมากกว่าการคัดกรองคนป่วยหน้าโรงพยาบาลได้”

ผู้สนใจจะร่วมสนับสนุนเครื่องวัดอุณหภูมิระยะไกลด้วยแสงอินฟราเรด เพื่อช่วยเหลือทีมบุคลากรทางการแพทย์หรือโรงพยาบาลที่ยังขาดแคลน สามารถติดต่อทีมวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่หน่วยวิจัย บัณฑิตศึกษา และบริการวิชาการ โทร 0 7428 8075 เราเชื่อว่ายังมีอีกหลายโรงพยาบาลที่ต้องการเครื่องมือดีๆ เพื่อช่วยให้ผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

ข้อมูลและภาพโดย งานประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์