นวัตกรรมไม่ได้เป็นแค่สิ่งประดิษฐ์แต่มีส่วนช่วยเสริมให้ศิลปวัฒนธรรมเข้าสู่ใจวัยรุ่น

“เราต้องบูรณาการงานศิลปวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ได้ หากมหาวิทยาลัยมีการดำเนินงานเรื่องศิลปวัฒนธรรมมาก แต่เก็บข้อมูลโดยไม่ได้มีฐานข้อมูลที่ทันสมัย ไม่มีการจัดเก็บในสื่อออนไลน์ หรือใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ เราก็จะไม่สามารถนำศิลปวัฒนธรรมเข้าสู่ความสนใจของกลุ่มนักศึกษา กลุ่มวัยรุ่นได้”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรปวีณ์ พุ่มเกิด ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของมหาวิทยาลัยคือนักศึกษา ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีสถานการณ์ปัจจุบัน และส่วนหนึ่งยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการทำนุบำรุงศิลปและวัฒนธรรมมากนัก ดังนั้นการนำเอาทุนทางวัฒนธรรมมาใช้เพื่อให้เขาเห็นคุณค่าและสอดคล้องกับสิ่งที่เขาอยู่ในความสนใจ จำเป็นต้องจัดทำให้น่าสนใจและใช้สื่อที่มีความทันสมัย เข้าถึงได้ง่าย ดังนั้นงานด้านส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งถ้าเราสามารถเข้าถึงใจวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวได้ ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและมหาวิทยาลัยจะประสบความสำเร็จในพันธกิจด้านนี้

ช่วงเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทุกวิทยาเขตมีการนำศิลปวัฒนธรรมเข้าสู่ความสนใจของกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มวัยรุ่น โดยสร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับกลุ่มกิจกรรมนักศึกษา มีการอบรมโขน นาฏศิลป์ มีรายวิชาศึกษาทั่วไปที่เกี่ยวกับนาฏศิลป์ วิชาเลือกรายวิชาหัตถศิลป์ รายวิชามหัศจรรย์ภูมิปัญญา ซึ่งได้รับความสนใจจากนักศึกษาจำนวนมาก มีการจัดอบรมให้กับนักศึกษาและผู้สนใจในเรื่องสามารถนำไปต่อยอดเป็นวิชาชีพก่อให้เกิดรายได้ เช่น การทำผ้าบาติก ผ้ามัดย้อม ผ้าบาติก การนำผ้ามาตัดเย็บ เป็นต้น

นอกจากนั้นในโครงสร้างใหม่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ มีมรดกวัฒนธรรมที่มีคุณค่ายิ่งของภาคใต้ จะมีการนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมใน 2 วิทยาเขต เข้ารวมอยู่ภายใต้หน่วยงานเดียวกัน คือสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา และประสานความร่วมมือกับวิทยาเขตอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเสริมคุณค่าของการดำเนินงานด้านนี้ และขยายผลสู่การปลูกฝังสํานึกการอนุรักษ์และทํานุบํารุงวัฒนธรรมให้แก่นักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป การร่วมทำงานภายใต้หน่วยงานเดียวกันจะเป็นการสร้างความเชื่อมโยงกันระหว่างวัฒนธรรมวนพื้นที่ภาคใต้ โดยจะมีการต่อยอดกิจกรรมและโครงการที่ทำไว้ดีแล้ว เช่น เรื่องการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม โดยเน้นการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาให้มากขึ้น รวมทั้งการทำงานวิจัยหรือพันธกิจเพื่อสังคม

มรดกทางวัฒนธรรมของภาคใต้สามารถนำมาสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้นงานวิจัยของสถาบันวัฒนศึกษากัลยาณิวัฒนาที่มีขึ้นในระยะหลังนอกจากเป็นการอนุรักษ์และการทำนุบำรุงแล้ว ยังมีการวิจัยเพื่อนำมาประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งก่อให้เกิดรายได้แก่ประชาชนและชุมชนท้องถิ่น นอกจากนั้นงานวิจัยที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตชุมชน เช่นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เส้นทางวัฒนธรรม อาหาร ก็สามารถเอื้อต่อการทำรายได้ให้ชุมชนเช่นกัน มหาวิทยาลัยยังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมโดยไม่ได้มองเป็นแค่สิ่งประดิษฐ์หรือเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่เป็นการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเสริมทุนวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนและสังคม สร้างแนวคิดร่วมกันในการรื้อฟื้นประเพณี การละเล่นพื้นบ้านในอดีต