การตรวจการติดเชื้อโควิด – 19 ทางห้องปฏิบัติการ

การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยวินิจฉัย เพื่อให้ทันต่อการรักษาผู้ป่วยและควบคุมโรค นอกจากการวินิจฉัยโดยการตรวจการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 (Severe acute respiratory syndrome coronavirus 2) ด้วยวิธี Reverse Transcriptase Polymerase Chain Reaction (RT-PCR) ถือเป็นมาตรฐานที่ใช้ตรวจยืนยัน COVID-19 แล้วนั้น(1)(2) การตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Antibody) ของร่างกายที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อจากน้ำเลือด ซีรั่ม และพลาสมา ยังอาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่มีการนำมาใช้ในการสอบสวนทางระบาดหรือการประเมินการติดเชื้อในบางประเทศ

การตรวจหาภูมิคุ้มกันดังกล่าวเป็นการตรวจหา IgM และ IgG ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในร่างกายหลังจากได้รับเชื้อไวรัส สามารถตรวจพบได้ในช่วงเวลาประมาณวันที่ 5 และ 10 วันหลังได้รับเชื้อ(3) และอาจจะใช้ร่วมกับการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ช่วยเพิ่มความไวในการตรวจหาการติดเชื้อ COVID-19(4) โดยมีระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์อยู่ที่ประมาณ 30 นาที ทั้งนี้ความสัมพันธ์ระหว่างระยะโรค และวิธีตรวจ COVID-19 ทางห้องปฏิบัติการ

กระบวนการทางห้องปฏิบัติการการตรวจการติดเชื้อโควิด – 19 มี 3 ขั้นตอน ได้แก่

  • แพทย์หรือพยาบาลเป็นผู้ทำหน้าที่เก็บสิ่งส่งตรวจ เช่น การป้ายคอ หรือป้ายจมูก เพื่อทำการเก็บเซลล์ที่อยู่ในบริเวณนั้นๆ
  • เข้าสู่ห้องปฏิบัติการ เพื่อทำการสกัดตัวไวรัสและเพิ่มจำนวนของสารพันธุกรรม
  • ทำการอ่านผล และส่งผลออกไปให้ทางโรงพยาบาล

โดยปกติแล้วหนึ่งสิ่งส่งตรวจสามารถพบเจอเชื้อได้ทุกเชื้อ เพียงแต่ว่าในการเพิ่มสารพันธุกรรมของแต่ละยีนจะต้องใช้ไพรเมอร์เพื่อสร้างรูปแบบให้เหมือนตัวต้นแบบเพื่อตรวจว่าบุคคลนั้นติดเชื้อจริงหรือไม่ ด้วยวิธี PCR (Polymerase Chain Reaction) เป็นเทคนิคสำหรับเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม

คุณสมพร ศรีไตรรัตน์ชัย
นักเทคนิกการแพทย์ หน่วยภูมิคุ้มกันและไวรัสวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ ม.อ.
ดร.สมนรพรรษ สุระสมบัติพัฒนา
นักเทคนิกการแพทย์และอาจารย์ประจำภาควิชาพยาธิวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ ม.อ.