“ท้องผูก” อาการที่คุณไม่ควรมองข้าม

การรับประทานอาหารในแต่ละวัน ส่งผลกับการขับถ่ายอย่างไร? เนื่องจากในแต่ละวันเรารับประทานทั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อาหารนั้นๆเมื่อเข้าไปสู่ร่างกาย ก็จะถูกย่อยโดยกระบวนการย่อยและดูดซึมสารอาหารของร่างกายเริ่มจากกระบวนการย่อยในปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ จนจบกระบวนการย่อยและการดูดซึมกลับ และถูกขับออกนอกร่างกายทางทวารหนักในรูปของของเสียที่เรียกว่า อุจจาระ

ท้องผูกเป็นอาการที่พบได้บ่อย หมายถึง การที่ลำไส้ไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระได้ง่ายและสม่ำเสมอ โดยมีความถี่ของการขับถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ร่วมกับก้อนอุจจาระมีลักษณะแข็งและยากต่อการขับถ่ายออกมา คนที่มีท้องผูกอาจรู้สึกเจ็บปวดเวลาถ่ายอุจจาระซึ่งมักต้องออกแรงเบ่ง ท้องอืดมีลมเยอะ แน่นท้องและรู้สึกว่าถ่ายไม่หมดรวมถึงถ่ายอุจจาระใช้เวลานาน

สาเหตุของท้องผูกที่พบบ่อย

  • การรับประทานอาหารไม่สม่ำเสมอ และมีปริมาณเส้นใยไม่เพียงพอขาดการออกกำลังกาย ยาบางชนิดกลุ่มอาการลำไส้ทำงานแปรปรวนการเปลี่ยนแปลงในชีวิตหรือกิจวัตร เช่น การตั้งครรภ์ อายุมาก
  • การเดินทางท่องเที่ยว การใช้ยาระบายไม่ถูกต้องการละเลยที่จะออกแรงเบ่งเพื่อขับถ่ายอุจจาระ
  • โรคหรือสภาวะบางอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (พบได้บ่อยที่สุด)
  • ปัญหาของลำไส้ใหญ่และไส้ตรง และการทำงานของลำไส้เอง (ภาวะท้องผูกเรื้อรังไม่รู้สาเหตุ)

ไม่อยากท้องผูกควรทำอย่างไร?

  • หลังตื่นนอนให้ดื่มน้ำ 1 แก้ว (ประมาณ 200 ซีซี) ทันที แนะนำเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาหลีกเลี่ยงน้ำเย็น
  • รับประทานอาหารที่มีแบคทีเรียช่วยเพิ่มการย่อย และการดูดซึม และอาหารที่มีเส้นใยเป็นประจำ เช่น ผักสด ผลไม้สด หัวไชเท้าฝอย โยเกิร์ต และ น้ำผึ้ง น้ำขิง และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่มีเส้นใยหรือมีน้อย เช่น ไอศกรีม ชีส เนื้อสัตว์ หรืออาหารสำเร็จรูป
  • การฝึกให้มีนิสัยการขับถ่ายที่ดี ควรฝึกให้ถ่ายอุจจาระสม่ำเสมอ พบว่าเวลาที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายอุจจาระควรเป็นหลังตื่นนอนตอนเช้า หรือหลังอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง
  • ท่านั่งที่เหมาะสมกับการขับถ่ายอุจจาระ ท่านั่งขับถ่ายมีผลอย่างมากต่อการขับถ่ายอุจจาระ ท่านั่งที่ถูกจะช่วยให้ไส้ตรงทำมุมดีขึ้นต่อการขับถ่าย ช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลและไม่ล้า ท่าที่ควรนั่งขับถ่ายคือท่าประเภทนั่งยองหรืองอเข่า
  • ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ

บางท่านเมื่อรู้สึกท้องผูกมักจะทานยาแก้ท้องผูก เมื่อใช้ยาแก้ท้องผูกนานเกิน 5 – 7 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เพราะการใช้ยาแก้ท้องผูกบ่อยๆ จะยิ่งกลับมาท้องผูกมากขึ้นและต้องเพิ่มปริมาณใช้ยามากขึ้นจนอาจก่ออันตราย  หากปล่อยไว้จนกลายเป็นท้องผูกเรื้อรัง อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างริดสีดวงทวาร เกิดแผลที่ทวารหนักหรือลำไส้ตรง ภาวะอุจจาระอัดแน่น รวมไปถึงอาจเป็นอาการแสดงเริ่มต้นของโรคและปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา

ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย ม.อ.