เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ!!! จากที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ “การเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ.2563” ว่า ในปีนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตามเกณฑ์ทางอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.2563 เป็นต้นไป และจะสิ้นสุดลงในช่วงกลางเดือน ต.ค. ทำให้พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรพื้นบ้านที่หาง่าย สามารถใช้ไล่ยุงได้ ไร้สารเคมีอีกด้วย
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ช่วงนี้ฝนจะตกชุกทำให้เกิดน้ำขัง เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพิ่มขึ้นมักเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี (dengue virus) ระยะฟักตัวของเชื้ออยู่ในช่วงเวลาประมาณ 3-15 วัน หลังรับเชื้อ ทางที่ดีสุด คือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัด ซึ่งการป้องกันมีด้วยกันหลายวิธี เช่น ภาชนะที่ใช้เก็บน้ำต้องมีฝาปิดให้มิดชิด ใช้ทรายอะเบทกำจัดลูกน้ำใส่ในภาชนะขังน้ำ ทำบริเวณรอบบ้านให้สะอาด ไม่มีมุมอับทึบ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และอีกหนึ่งวิธีป้องกันยุงกัด คือ การใช้สมุนไพรใกล้ตัวมาใช้ประโยชน์ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด
สำหรับสมุนไพรที่ปลูกได้เองและมีสรรพคุณทางยาในเรื่องของการไล่ยุง สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ มีอยู่หลายชนิด เช่น ตะไคร้หอม ยูคาลิปตัส ผิวมะกรูด ผิวส้ม โหระพาและสะระแหน่ เนื่องจากสมุนไพรดังกล่าว มีสารสำคัญในการออกฤทธิ์ไล่ยุง เช่น น้ำมันหอมระเหยจากการบูร ยูคาลิปตัส, ตะไคร้หอม, ใบมะกรูด วิธีการนำมาใช้แบบโบราณพื้นบ้าน เพียงแค่นำสมุนไพรที่กล่าวข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่งมาทุบหรือขยี้ ๆ แล้วนำไปวางบริเวณมุมอับ ก็จะสามารถช่วยไล่ยุงได้
นอกจากใช้สมุนไพรไล่ยุงเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกแล้ว ก็ควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มียุงชุกชุม หากต้องเข้าไปในป่า ควรทายากันยุงและสวมเสื้อผ้าที่มิดชิดไม่ควรสวมเสื้อผ้าสีทึบ หากมีอาการไข้สูง โดยไม่มีอาการไอ เจ็บคอ หรือมีน้ำมูกไหลร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและตรวจหาโรคไข้เลือดออก