ทักษะการสื่อสาร เพื่อการรับมือปัญหา”สุขภาพจิต”ของนักศึกษา

ปัจจุบันวัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี กลุ่มนักศึกษามีพฤติกรรมการฆ่าตัวตายเป็นอันดับต้นๆ ส่วนกลุ่มนักศึกษาที่มีปัญหาสุขภาพจิตในระดับที่ยังไม่ถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาหรือไม่รู้ว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพจิตนั้นก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก ตัวบ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพจิตของเด็กวัยรุ่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในโลกและกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี นับเป็นกลุ่มที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ

“ไม่น่าเชื่อว่ามีนักศึกษาที่มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นทุกปี นี่คือการเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาล และจากคลินิกบ้านวัยใส จะเห็นว่าจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี จากการตั้งสมมติฐานในการเพิ่มขึ้นของนักศึกษาที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต มาจากสภาพสังคม แวดล้อม การเรียน การเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน แม้กระทั่งตอนนี้ก็คงไม่พ้นเรื่องของ ความเครียดจากโควิด19”

ผศ.ชุติพร จิโรจน์กุล
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสวัสดิการนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดโครงการ “ทักษะการสื่อสารเพื่อรับมือปัญหาสุขภาพจิตของนักศึกษา” แก่บุคลากรด้านกิจการนักศึกษา หัวข้อ “สุนทรียสนทนา”และ“การดูแลด้วยหัวใจ” เพื่อช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยง ปัญหาสุขภาพจิต ให้นักศึกษาสามารถปรับตัวอยู่ในมหาวิทยาลัยได้อย่างมีความสุข

โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่ามีนักศึกษาที่มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากสถิติตั้งแต่ปี 2558 – 2562 มีนักศึกษาที่มีปัญหาสุขภาพจิต จำนวน 82 คน 132 คน 173 คน 233 คน และ 338 คน ตามลำดับและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นหากนักศึกษาได้รับการดูแลกับบุคลากรที่มีทักษะการสื่อสารจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในชีวิตจะช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยง และสามารถปรับตัวอยู่ในมหาวิทยาลัยได้อย่างมีความสุข

“ตอนนี้พฤติกรรมการขอคำปรึกษาของนักศึกษาเปลี่ยนไป จากเดิมนักศึกษาจะเดินเข้ามาขอคำปรึกษาด้วยตนเอง แต่ตอนนี้เป็นลักษณะของการโทรศัพท์ และขอรับการปรึกษาจากทางเพจ จากนั้นผู้เชี่ยวชาญจะมีวิธีการในการให้คำปรึกษาต่อไป”

ด้าน ผศ.สุพจน์ โกวิทยา รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล็งเห็นปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นในสังคมไทยมีความรุนแรงมากขึ้นและสถานการณ์โรคซึมเศร้าในสังคมเป็นปัญหาสำคัญทางสุขภาพซึ่งเป็นโรคใกล้ตัวที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีความรุนแรงจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ ประกอบกับวัยรุ่นมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจและอารมณ์ ทำให้ประสบปัญหาต่างๆเช่น ปัญหาเรื่องเพื่อน ปัญหาเรื่องเรียน ปัญหาเรื่องความรัก ปัญหาครอบครัว ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา