วัคซีนครอบครัว (พลังบวก-พลังยืดหยุ่น-พลังร่วมมือ)

วัคซีนครอบครัว (พลังบวก พลังยืดหยุ่น พลังร่วมมือ) เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของครอบครัว สร้างความสุขในสังคม หลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย 3 พลัง คือ  พลังบวก การมองเห็นข้อดีของทางออกปัญหา , พลังยืดหยุ่น การปรับเปลี่ยนเป้าหมาย บทบาท วิธีการแก้ปัญหา รู้จักหาแหล่งสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือ และพลังร่วมมือ การร่วมมือเป็นทีมเดียวกันเพื่อสู้ปัญหา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข เร่งสร้างวัคซีนครอบครัว เสริมสร้างความเข้มแข็ง เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันเป็นเกราะป้องกันปัญหาสุขภาพจิต

“โควิด-19 ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างต่อประชาชนในทุกสถานะ ทุกเพศและทุกวัย ส่งผลต่อด้านจิตใจอย่างมากกับครอบครัว ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล หดหู่และหมดหวัง โดยเฉพาะในครอบครัวเปราะบาง ซึ่งมีโอกาสได้รับการดูแลช่วยเหลือไม่ทั่วถึงทั้งทางร่างกายและจิตใจ”

นายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา
รองอธิบดี กรมสุขภาพจิต

กรมสุขภาพจิต มีนโยบายสร้างวัคซีนครอบครัว ตามหลักการเสริมสร้างความเข้มแข็งในครอบครัว เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันเป็นเกราะป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในระดับครอบครัวและนำไปสู่การเป็นรากฐานของชุมชนเข้มแข็งเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์โควิด-19 ได้ และสามารถฟื้นตัวกลับมาและพัฒนาตนเองได้ดีขึ้น

วัคซีนครอบครัวที่จำเป็นต้องเร่งสร้างในขณะนี้ ประกอบด้วย 3 พลังคือ

  • พลังบวก เพื่อเสริมจุดแข็งของสมาชิกในครอบครัวที่เป็นต้นทุนในการหาทางออกในภาวะวิกฤติ ทำให้ครอบครัว มองมุมบวกเป็น เห็นทางออกในทุกปัญหา 
  • พลังยืดหยุ่น เพื่อให้ครอบครัวที่ปรับตัวได้เปลี่ยนบทบาทหน้าที่เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระที่เกิดขึ้น 
  • พลังยืดหยุ่น เสริมความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการฟันฝ่าปัญหาอุปสรรค โดยวัคซีนครอบครัวนับเป็นส่วนหนึ่งในแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง และขณะนี้เครือข่ายสุขภาพจิตทั่วประเทศ ร่วมกับผู้นำชุมชนอยู่ระหว่างดำเนินการจัดกิจกรรมสร้างวัคซีนครอบครัว โดยประชาชนที่สนใจสามารถเข้าชมกิจกรรมได้ผ่านทาง Facebook บ้านพลังใจ

“จากการสำรวจความสุขของครอบครัวไทยทางออนไลน์ โดยการลงพื้นที่สำรวจจากครอบครัวกลุ่มเปราะบางของกรมสุขภาพจิต พบว่า ส่วนใหญ่ยังมีความสุขอยู่ในระดับดี แม้ผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้แต่ละครอบครัวมีความเครียด แต่ครอบครัวทุกระดับสังคมมีความเครียดไม่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมั่นถึงร้อยละ 76.2 ว่าจะก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้”