ม.อ.สร้างแหล่งน้ำและแหล่งอาหารให้ลิง และสัตว์ป่าอื่นๆ บนเขาคอหงส์

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แก้ปัญหาลิงมารบกวนพื้นที่เขตพักอาศัยอย่างยั่งยืน ด้วยการร่วมกันปลูกป่าและสร้างแหล่งอาหารให้ลิงและสัตว์ป่าอื่นๆ 500 ต้น พร้อมวางถังเก็บน้ำฝนให้สัตว์ป่าในฤดูแล้ง ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้สัตว์ป่ามีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและเหมาะสม

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม  2563 บุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  นำโดยบุคลากรกองกายกายภาพและสิ่งแวดล้อม  ร่วมปลูกป่าสร้างแหล่งน้ำและแหล่งอาหารให้สัตว์ป่า เขาคอหงส์  โดยเฉพาะลิง  ณ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยได้ปลูกหน่อกล้วยน้ำว้า จำนวน 100 ต้น และไม้ยืนตนที่ให้ผลผลิตเป็นอาหารสัตว์ป่า ประมาณ 400 ต้น รวมจำนวน 500 ต้น ณ บริเวณพื้นทีป่าโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชเขาคอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา   รวมทั้งวางถังเก็บน้ำขนาด 200 ลิตร จำนวน 5 ใบ เพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำฝนให้สัตว์ป่าในฤดูแล้ง

ลิงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เทศบาลเมืองคอหงส์ องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งใหญ่ มณฑลทหารบกที่ 42 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 (สงขลา) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (สงขลา) ปศุสัตว์จังหวัดสงขลา เป็นต้น ประกอบกับขณะนี้มีลิงจำนวนเพิ่มขึ้นทุกๆปี ทำให้แหล่งหาอาหารตามธรรมชาติมีไม่เพียงพอ ลิงจำนวนหนึ่งได้เข้ามาหาอาหารในชุมชนเพิ่มใกล้เคียงมากขึ้น รวมทั้งทำลายพืชผลการเกษตร

ผศ.ดร.วศิน สุวรรณรัตน์ รองอธิการบดีวิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยว่า  เพื่อสร้างอาหารในป่าเพิ่มเติมในพื้นที่ป่าธรรมชาติบนเขาคอหงส์ เป็นวิธีการหนึ่งที่ที่สามารถลดจำนวนลิงมารบกวนพื้นที่ในชุมชน  จึงได้จัดกิจกรรมร่วมกันปลูกป่า ณ บริเวณพื้นทีป่าโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชเขาคอหงส์   โดยทำการปลูกหน่อกล้วยน้ำว้า จำนวน 100 ต้น และไม้ยืนตนที่ให้ผลผลิตเป็นอาหารสัตว์ป่า ประมาณ 400 ต้น รวมจำนวน 500 ต้น รวมทั้งวางถังเก็บน้ำขนาด 200 ลิตร จำนวน 5 ใบ โดยมีบุคลากรและนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 100 คน  เพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำฝนให้สัตว์ป่าในฤดูแล้ง  และปลูกฝังจิตสำนักในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ลิงและสัตว์ป่าอื่นๆมีถิ่นที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย ฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่ภูเขาคอหงส์ ให้มีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารสัตว์ป่า และแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าคุ้มครอง