ในหลวง ร.9 กับปาล์มน้ำมันและพลังงานทดแทน

การพัฒนาและวิจัยน้ำมันปาล์มเพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เริ่มดำเนินการหลังจากที่เสด็จทอดพระเนตรสวนปาล์มน้ำมันที่นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ อ. ควนกาหลง จ.สตูล  เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2518 ทรงมีพระราชดำรัสสอบถามข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน ซึ่งในขณะนั้นพืชชนิดนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากนักพร้อมทั้งชมการสาธิตการหีบน้ำมันปาล์มแบบไฮโดรลิคส์โดยละเอียด

พระองค์ทรงให้ความสนพระทัยปาล์มน้ำมันเป็นอย่างมาก จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการก่อสร้างโรงงานสาธิตสกัดปาล์มน้ำมันตั้งแต่ พ.ศ.2526 ซึ่งได้มีการค้นคิดวิธีการทดลองและต่อยอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ที่จริงเมื่อ ๒ ปีก็ทำไบโอดีเซลใช้น้ำมันปาล์ม ๑๐๐% ไม่ใช่เพียงน้ำมันปาล์ม ๑๐๐% นายกฯ ได้เห็นรถแล่นมาน้ำมันปาล์ม ๑๐๐% เรายืนอยู่ที่รถคันหนึ่งแล้วก็เสร็จ แล้วก็มีรถอีกคันหนึ่งถอยหลังมาได้ยินเสียงบึม ๆ ๆ นั้นอะไร รถดีเซล รถใช้น้ำมันดีเซล ๑๐๐% ๑๐๐% น้ำมันปาล์ม แล้วนายกฯ ก็บอกว่าหอมดี แล้วก็ถามว่าหอมดี แล้วไม่เดือดร้อนเพราะว่านายกฯ ไม่ต้องกลัวเป็น CANCER เพราะว่าไอ้นี่ไม่เป็นมะเร็ง เราทำแล้วก็ หมายความว่าเราไม่เดือดร้อนถึงเวลาเราอายุ ๑๑๘ ถ้าอย่างไรเราก็ใช้น้ำมันปาล์มของเราเอง คนอื่นอาจจะไม่มีแต่ว่าเรามี เพราะเราขวนขวายหาวิธีที่จะทำเชื้อเพลิงทดแทนได้ ถ้าไม่ได้ทำเชื้อเพลิงทดแทนเราก็เดือดร้อนแล้วก็เป็นห่วง แต่เราไม่ต้องเป็นห่วงถ้าคนอื่นเขาไม่ทำเขาอาจจะไม่มีน้ำมันไบโอดีเซลใช้ แต่ว่าเรามี เราคือข้าพเจ้าทำเอง คนอื่นเขาอาจจะไม่มีก็ไม่เป็นไร เราต้องเห็นแก่ตัว แต่ละคนถ้าเห็นแก่ตัวก็รู้ว่าไม่เป็นไร เพราะแต่ละคนก็ต้องพยายามที่จะหาพลังงานทดแทนทั้งนั้น

พระราชดำรัสเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔
ณ ศาลาดุสิตาลัยพระตำหนักสวนจิตรลดา

รองศาสตราจารย์ ดร.สัณห์ชัย กลิ่นพิกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทตั้งแต่ 45 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2518 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ นิคมควนกาหลง จังหวัดสตูล เพื่อทอดพระเนตรโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก และ สวนปาล์มที่ทางนิคมได้ปลูกไว้ตั้งแต่ ปี 2511 โดย อาจารย์สัณห์ชัย กลิ่นพิกุล ได้เป็นหนึ่งในคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย ที่ได้เข้าไปประกอบและติดตั้งเครื่องหีบน้ำมันปาล์มแบบไฮดรอลิกที่นิคมควนกาหลงที่สั่งซื้อมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้เฝ้ารับเสด็จด้วยรับสั่งถามว่า “มาจากไหน”
กราบบังคมทูลว่า “เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พะยะค่ะ”
ทรงถามต่อว่า “แล้วมาทำอะไรอยู่ที่ควนกาหลง”
กราบบังคมทูลว่า “เขาให้มาตั้งเครื่องจักรสกัดน้ำมันปาล์ม”
รับสั่งถามว่า “เครื่องนี้เราสร้างเองในประเทศได้ไหม”
กราบบังคมทูลว่า “สร้างได้พะยะค่ะ”
รับสั่งต่อว่า “งั้นฉันให้เป็นการบ้านเลยนะ ปีหน้าจะตามมาดู”

นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้มีพระราชดำรัสให้มหาวิทยาลัยวิจัยเครื่องจักรหีบน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก และปีต่อมาได้เสด็จมาติดตามงานที่ทรงรับสั่งเอาไว้ เครื่องจักรผลิตน้ำมันปาล์มที่สร้างใหม่เครื่องนี้ใช้วิธีการทอดผลปาล์มแทนการนึ่งเพื่อให้ได้น้ำมัน ซึ่งมีข้อดีคือไม่มีน้ำเสียในกระบวนการผลิต ทำให้ทรงพอพระทัยอย่างยิ่ง ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าร่วมถวายงานโครงการในพระราชดำริ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการสืบเนื่องมาอีกหลายโครงการจนปัจจุบัน

เช่นเดียวกับความรู้สึกของนักวิจัยที่ได้มีโอกาสทำงานสนองพระราชดำริ รองศาสตราจารย์ ดร.สัณห์ชัย กลิ่นพิกุล มีความภูมิใจ ประทับใจในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ 39 ปีในชีวิตการทำงานได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาโดยตลอด แม้จะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังได้รับการแต่งตั้งจากมูลนิธิชัยพัฒนา ให้เป็นผู้ตรวจการภาคใต้ และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทน และยังเป็น ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อีกด้วย