วิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทย-จีน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต่อยอดยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก เป็นวัสดุจักสานสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋า ตะกร้า เสื่อ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อพัฒนายางธรรมชาติให้มีคุณสมบัติพิเศษด้วยวิธีต่างๆ มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีส่วนช่วยในการลดขยะพลาสติก สามารถนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้
ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกมีส่วนผสมของยางธรรมชาติและพลาสติก ซึ่งมีทั้งสัดส่วน 50:50 30:70 หรือขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของยางที่เราต้องการ ทั้งนี้ยังมีสารเคมีที่ช่วยผสมระหว่างยางธรรมชาติและพลาสติก โดยมีเครื่องผสมที่มีคุณสมบัติในการผสมและแปรรูปอย่างมีคุณภาพ เนื่องจากต้องใช้ความร้อนในการผสมและขึ้นรูป เมื่อส่วนผสมทั้ง 2 อย่างร่วมกันก็จะได้วัสดุจักสานจากยางพาราเทอร์โมพลาสติกที่มีความนุ่ม ยืดหยุ่นและมีความแข็งแรงอีกด้วย
ดร.ณัฐพล อุทัยพันธ์
วิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทย-จีน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ดร.กานดา เซ่งลอยเลื่อน วิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทย-จีน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าว่างานวิจัยชิ้นนี้เริ่มต้นจากการมีการให้โจทย์นักศึกษาคิดค้นเรื่องของการนำเศษพลาสติก ฝาขวดน้ำ แก้วพลาสติก ฯลฯ ที่เจอในชีวิตประจำวันมาผสมกับยางธรรมชาติแล้วนำไปขึ้นรูปเป็นเส้น จากนั้นนำมาต่อยอดเป็นงานจักสาน เป็นตะกร้าเล็กๆ เพื่อเป็นไอเดียเริ่มต้น และยังสามารถต่อยอดเป็นงานด้านต่างๆได้ต่อไป
ทั้งนี้ยางธรรมชาติเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของประเทศไทยและมีคุณสมบัติที่ดีหลายประการ จากยางธรรมชาติทั่วไปสู่ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกที่สามารถขึ้นรูปได้เหมือนพลาสติก โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการ Vulcanization เหมือนยางทั่วไป เมื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ จะมีคุณสมบัติที่ยืดหยุ่น อ่อนนุ่มเหมือนยาง นอกจากนั้นยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เหมือนพลาสติกและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสามารถแก้ปัญหาในเรื่องของยางพารา ได้ในระดับหนึ่ง และยังส่งผลให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย