“มวนเพชฌฆาต” องครักษ์พิทักษ์ผัก

มวนเพชฌฆาตเป็นแมลงตัวห้ำ  แมลงตัวห้ำเป็นกลุ่มแมลงที่มีพฤติกรรมเจออาหารปุ๊บจะพุ่งใส่เลย ห้ำเหยื่อทันทีเหมือนเสือ สิงโต ตะครุบเหยื่อ กัดกินหรือดูดกินก็แล้วแต่ ในธรรมชาติที่เรารู้จักกันดีคือตั๊กแตนต่อยมวย ทางใต้เรียกว่าแมลงชูชก แมลงปอทุกชนิด พวกนี้เป็นแมลงตัวห้ำที่มีปากแบบกัดกิน แมลงตัวห้ำกินสิ่งมีชีวิตอย่างเดียว คือกินกลุ่มแมลงศัตรูพืชและแมลงด้วยกันเป็นอาหาร มวนเพชฌฆาตกับมวนพิฆาตเป็นแมลงคนละชนิดกัน แต่ลักษณะการกินเหยื่อใช้วิธีการกินเหมือนกัน ปากของมวนจะเป็นแบบเจาะดูด ลักษณะการเข้าทำลายเหยื่อคือวิ่งเข้าไปหาเหยื่อปุ๊บ เอาปากทิ่มตัวเหยื่อ แล้วดูดกินของเหลวในตัวเหยื่อ

มวนพิฆาตกับมวนเพชฌฆาต หน้าตาจะต่างกัน พฤติกรรมการกินก็จะต่างกัน แต่มีประโยชน์ในการควบคุมหรือกำจัดศัตรูพืชได้เหมือนกัน หรือบางทีเกษตรกรจะสับสนระหว่างมวนเพชฌฆาติกับกลุ่มมวนสีแดงที่เป็นแมลงศัตรูพืช ดูดกินน้ำเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นลำต้น ใบหรือว่าฝักของพืชที่เราปลูก

ดร.เทวี มณีรัตน์
สาขาวิชานวัตกรรมการเกษตร วิชาเอกการจัดการศัตรูพืช
คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. หาดใหญ่

ดร.เทวี ยังเล่าอีกว่า เราอยากให้เกษตรกรใช้มวนเพชฌฆาตเพื่อป้องกันศัตรูพืช ป้องกันก่อนกำจัด เพราะต้องการทำการเกษตรแบบยั่งยืน เน้นการป้องกันศัตรูพืช สมดุลระบบนิเวศ แล้วเราควบคุมโดยชีววิธี คือการใช้สิ่ง่มีชีวิตควบคุมด้วยกันเอง จริงๆแล้วแมลงศัตรูพืชเกิดจากพฤติกรรมการปลูกพืชของเรามากกว่า อดีตไม่เคยมีคำว่าแมลงศัตรูพืช เพราะว่าแมลงศัตรูพืชก็กินพืชไป แต่ว่ากินในระดับที่เล็กน้อยเท่านั้น ตัวห้ำตัวเบียนก็มากินมัน ช่วงระยะเวลาเราก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ แต่พอเราเปลี่ยนมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว เปลี่ยนมาใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุลไป แมลงศัตรูพืชเค้าเก่ง พอเจอสารเคมีปุ๊บมันพัฒนาตัวเองให้ต้านทานสารเคมี ในขณะที่แมลงศัตรูธรรมชาติหรือว่าตัวห้ำตัวเบียนพัฒนาได้ช้ากว่า แมลงธรรมชาติก็โดยทำลายไปในธรรมชาติ จริงๆแล้วแมลงศัตรูพืช ถ้าอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม จะเป็นตัวที่กระตุ้นให้ผลผลิตของเราสร้างดีขึ้น  สมมติว่าเราปลูกพริกไว้หนึ่งต้น กิ่งหลักจะโตไปเรื่อย แมลงศัตรูพืชถ้าเข้ามาในปริมาณที่เหมาะสม อาจจะจับกินบริเวณน้ำเลี้ยงบริเวณยอดๆนั้นก็จะเจริญเติบโตช้าลงก็ไปกระตุ้นให้บริเวณส่วนตาของพืชเร่งการแตกกิ่งก้านเพิ่มมากขึ้น เหมือนว่าตอนนี้เธอโดนทำลายนะ จะต้องกระตุ้นเพื่อทำให้ตัวเธอเองมีชีวิตรอด เจริญเติบโตต่อไปได้ นี่คืออีกหนึ่งบทบาทของแมลงศัตรูพืชต่อสมดุลระบบนิเวศ การควบคุมโดยชีววิธี คือการใช้สิ่ง่มีชีวิตควบคุมด้วยกันเอง เน้นการป้องกัน คือไมให้เกิด  เราปล่อยมวนเพชฌฆาตเข้าไปเหมือนปล่อยรปภ.เข้าไป เพื่อที่จะคอยเฝ้าสวนของเรา ป้องกันไม่ให้ศัตรูพืชเพิ่มปริมาณมากจนกระทั่งเกิดความเสียหายกับผลผลิต

มวนเพชฌฆาตเป็นแมลงท้องถิ่นปรับตัวได้ทุกภาคของประเทศไทย เราสามารถเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการได้ หน่วยผลิตมวนเพชฌฆาตผลิตมวนวัยที่ 3-4 ตัวอ่อนมวนมีทั้งหมด 5 วัย เราจะใช้วัยที่ 3-4 เพราะเป็นวัยที่รับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมเก่ง ทนการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศน์ได้ดี หาเหยื่อเก่ง ทางหน่วยจะบรรจุในกล่อง เมื่อเกษตรกรเอาไปใช้ให้เปิดฝาแล้วเขี่ยมวนลงบนต้นพืชเลย แนะนำให้ปล่อยช่วงเช้าประมรณ 6 โมงเช้า ก่อนเจอแดดแรงๆ หรือช่วงเย็นประมาณ 5 โมงครึ่ง ประมาณ 3-5 สัปดาห์เค้าจะมีปีก ช่างอายุของมวนจะยาวมีข้อดีคือทำให้กำจัดศัตรูพืชได้นานขึ้น อัตราส่วนการปล่อยมวนเพชฌฆาตการใช้ในเชิงป้องกัน 200-250 ตัวต่อไร่ แต่ถ้าระยะหนอนเริ่มระบาดแล้ว เพิ่มจำนวนเป็น 500-750 ตัวต่อไร่ เค้าอาจทำงานไม่ทันใจเกษตรกรที่ฉีดสารเคมีแต่เค้าทำงานควบคุมได้เต็มประสิทธิภาพจริงๆ

ส่วนกรณีเกษตรกรอยากใช้มวนเพชฌฆาตจัดการแมลงศัตรูพืชในทุเรียนอย่างหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ควรใช้ควบคู่กับสารชีวภัณฑ์คือบิวเวอเรีย เพราะ มวนจะจัดการในระยะผีเสื้อที่อาจไปวางไข่ที่ดอกและผล ส่วนบิวเวอเรียช่วยจัดการฆ่าระยะไข่ได้ โดยใช้บิวเวอเรียผสมน้ำพ่นไปที่ผลหรือดอก หรือถ้าทุเรียนต้นสูงมากก็ใช้ราดพื้นดินรอบโคนต้น เมื่อเวลาดอกหรือผลทุเรียนร่วงแล้วมีไข่หนอน บิวเวอเรียช่วยจัดการหนอนได้

หน่วยผลิตมวนเพชฌฆาต คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. ผลิตมวนเพชฌาตเพื่อเกษตรกรควบคุมแมลงศัตรูพืช ผลผลิตไม่เสียหาย รักษาสมดุลธรรมชาติ

รับฟัง Podcast : สภากาแฟ ตอน มวนเพชฌฆาต ให้สัมภาษณ์โดย ดร.เทวี มณีรัตน์ สาขาวิชานวัตกรรมการเกษตร วิชาเอกการจัดการศัตรูพืช คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. หาดใหญ่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *