ภาวะอ้วน เสี่ยงป่วยโควิด19 ขั้นรุนแรง?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อจากโควิด-19 แล้วส่งผลให้มีอาการรุนแรงหรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิต มีหลายประการ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้ที่มีภาวะอ้วนที่มักจะมีโรคร่วมหรือผลข้างเคียง ซึ่งหากมีการติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียง มีอาการที่รุนแรงมากกว่าคนทั่วไป

รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ฝ่ายโรงพยาบาล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า สำหรับผู้ที่มีภาวะอ้วน โรคอ้วนจะมีความเสี่ยงหลายประการ เนื่องจากมีความผิดปกติของระบบเมตาบอลิกในร่างกายทำงานแย่ลง โดยสาเหตุที่ทำให้คนอ้วนมีความเสี่ยงที่จะมีอาการหนักหากติดเชื้อโควิด-19 มีหลายปัจจัย เช่น ภาวะอ้วนส่งผลเกิดเป็นโรคแทรกซ้อน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคเหล่านี้ล้วนเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่าย ทำให้ระดับภูมิคุ้มกันน้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคเบาหวานร่วมจะเพิ่มโอกาสต่อการมีผลข้างเคียงจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 มากขึ้น ส่งผลทำให้อาการแย่ลงได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อดูจากข้อมูลผู้เสียชีวิตโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ขณะนี้พบโรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้

“ผู้ที่มีภาวะอ้วนจะส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต ปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น รวมถึงส่งผลให้ปอดทำงานน้อยลงกว่าปกติ ความยืดหยุ่น แรงต้านอาจจะเยอะกว่าคนปกติ เมื่อเกิดการติดเชื้อ ระบบการหายใจการนำออกซิเจนเข้าในเลือดจะน้อยลงกว่าคนปกติ ดังนั้นจะทำให้ผู้ที่มีภาวะอ้วนมีความเสี่ยงที่เกิดอาการที่รุนแรงหลังจากการติดเชื้อโควิด-19”

รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากรายงานสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้เสียชีวิต รวมถึงมีการเปรียบเทียบโดยการศึกษาทางสถิติมีพบว่า ผู้มีโรคอ้วนที่มีภาะโรคอื่นๆแทรกซ้อนมีความสัมพันธ์ต่อการติดเชื้อโควิด19 ทั้งยังส่งผลให้มีอาการที่รุนแรงและการเสียชีวิตมากขึ้น

** การวัดค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI : Body Mass Index  สามารถหาค่าได้โดยการชั่งน้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัม และวัดส่วนสูงหน่วยเป็นเมตร โดยใช้สูตร ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร)2 เช่น มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม สูง 1.50 เมตร = 50/(1.5×1.5) = 22.22 จะมีค่า BMI อยู่ที่ 22.22 

ตารางวัดดัชนีมวลกาย (BMI)

ค่าที่ได้น้อยกว่า 18.5 >>>> ผอมเกินไป

ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 18.5-22.9 >>>> อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม (น้ำหนักตัวปกติ)

ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 23-24.9 >>>> น้ำหนักเกิน (ท้วม)

ค่าที่ได้มากกว่า 25-29.9 >>>> อ้วน (จัดเป็นโรคอ้วนระดับที่ 1)

ค่าที่ได้มากกว่า 30 >>>> อ้วนเกินไป (จัดเป็นความอ้วนระดับอันตราย เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *