อาจารย์กชกร มุสิกพงษ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำสาขาเวชกรรมไทย คณะการแพทย์แผนไทย ม.อ. กล่าวถึงกระชายว่า กระชายเป็นพืชสมุนไพร ซึ่งกระชายมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ กระชายดำ กระชายแดง และกระชายเหลือง (หรือกระชายขาว) มีรสชาติเผ็ดร้อน มีกลิ่นเฉพาะตัว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน ทั้งเหง้า, ราก, ใบ ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมมักใช้เป็นเครื่องปรุงสำหรับเสริมกลิ่นและรสชาติ มีสรรพคุณช่วยปรับธาตุลมในร่างกาย บำรุงร่างกายทั่วไป ช่วยขับลม ช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้อาการหวัดหรือคัดจมูกในช่วงเบื้องต้น และหากดูตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่เป็นบัญชียาจากสมุนไพรที่มีส่วนผสมของกระชาย ได้แก่ “ยาเลือดงาม” ซึ่งมีสรรพคุณ คือ บำรุงร่างกายและบรรเทาอาการปวดประจำเดือน เป็นต้น
ในตำรับการบำรุงร่างกาย จะเป็นการบำรุงให้ร่างกายมีกำลังที่แข็งแรงมากยิ่งขึ้น และสมุนไพรกระชายจะเป็นการบำรุงเรื่องการปรับธาตุลมในร่างกาย โดยในตำรับยาจะมีส่วนผสมของยาแต่ละชนิดจะมีการทำหน้าที่ในการบำรุงธาตุ ได้แก่ ดิน, น้ำ, ลมและไฟ เพื่อจะได้ช่วยในการบำรุงร่างกายให้ครบทั้ง 4 ธาตุ
อาจารย์กชกร มุสิกพงษ์
อาจารย์ประจำสาขาเวชกรรมไทย คณะการแพทย์แผนไทย ม.อ.
ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดสำหรับอันตรายที่เป็นรูปธรรมสำหรับการทานกระชายในปริมาณมากว่าจะมีผลอย่างไร แต่ในทางการแพทย์แผนไทย หากทานอาหารหรือสิ่งที่มีฤทธิ์ร้อนมากๆ ก็จะทำให้ร่างกายร้อนได้ง่าย ร้อนใน ทำให้ธาตุในร่างกายไม่สมดุล แนะนำให้มีการเว้นระยะในการทานหรือไม่ควรทานติดต่อจนเกินไป หากอยากให้ร่างกายได้รับคุณประโยชน์แบบครบสูตร แนะนำให้มีการเปลี่ยนการทานสลับกัน เช่น กระชาย น้ำขิง หรือน้ำผักผลไม้อื่นๆ เป็นต้น
ขอบคุณภาพกระชายจาก homchanosot