ในวันที่เราเริ่มตระหนักถึงภัยที่มนุษย์สร้างขึ้น สู่มหันตภัยร้ายอันนำมาซึ่งความตายของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล และจะมีสักกี่คนที่ตระหนักว่า ท้ายที่สุดแล้วนั้นผลของการเปลี่ยนแปลงจะย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์เอง เศรษฐกิจสีน้ำเงิน จึงเป็นแนวทางการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืน หรือหากกล่าวให้เข้าใจง่ายที่สุด เศรษฐกิจสีน้ำเงิน หมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ส่งผลเสียต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามชายฝั่งและในทะเลนั่นเอง
แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจสีน้ำเงินนั้นมีที่มาที่ไปโดยเริ่มต้นจากการประชุม Rio+20 เมื่อปี ค.ศ. 2012 อันเป็นการประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกรอบของ UN Commission on Sustainable Development (UNCSD) ซึ่งได้มีการบัญญัติคำขึ้นมาใหม่ คือ เศรษฐกิจสีเขียว อันเป็นเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นให้เกิดความกินดีอยู่ดีของมนุษย์และความเท่าเทียมทางสังคม โดยลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและทรัพยากรของระบบนิเวศน์ โดยเกี่ยวข้องกับทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรแรงงาน และทรัพยากรน้ำ เป็นต้น
ทุกประเทศได้รับแนวคิดนี้ไปปรับใช้กับบริบทของประเทศตน จากการนำเอาแนวคิดไปปรับใช้นั้นสิ่งที่น่าสนใจ คือประเทศที่เป็นหมู่เกาะ และประเทศที่พึ่งพิงการใช้ทรัพยากรทางทะเลได้ประยุกต์แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวเข้ากับบริบทและสภาพแวดล้อมของประเทศตน ซึ่งเน้นไปในเรื่องของการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในประเทศของตน และในน่านน้ำทะเลสากล เนื่องด้วยมหาสมุทรและทะเลหลวงล้วนแต่เป็นทรัพยากรร่วมที่เปิดให้ทุกประเทศเข้าใช้ประโยชน์ได้ (Open Resource) กล่าวคือ เป็นสินค้าสาธารณะที่ไม่สามารถกีดกันใครได้นั่นเอง เพราะฉะนั้นเป้าหมายที่ว่านี้จึงมิใช่เพียงเพื่อการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการใช้ทรัพยากรทางทะเลร่วมกัน ดังเช่นในมหาสมุทรและน่านน้ำสากล
เพื่อให้เห็นความแตกต่าง และข้อต่อจาก Green Economy สู่ Blue Economy นั้น อาจกล่าวได้ว่า หากพื้นที่ราบลุ่มมีผืนป่าและแผ่นหญ้าอันเขียวขจีเป็นดั่งหัวใจของความยั่งยืนฉันใด พื้นที่ชายฝั่งก็มีหาดทราย และทะเลสีครามเป็นดั่งอัญมณีล้ำค่าแก่การอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาฉันนั้น
ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า เศรษฐกิจสีน้ำเงิน คือกรอบแนวคิดและแนวทางปฏิบัติของทุกภาคส่วนในสังคมที่เห็นพ้องต้องกันในการปรับตัวเข้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรอบการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินเป็นการบูรณาการการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพิงทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทร (marine/ocean economy) ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงประเด็นทางสังคม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน (environmental sustainability) และการดำเนินงานของภาคธุรกิจ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยนั้น แนวคิดเรื่อง Blue Economy หรือ“ เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” มิใช่เรื่องใหม่หรือไกลตัว เนื่องจากแนวคิดของ Blue Economy มีลักษณะคล้ายกับแนวคิดเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency economy philosophy) และแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) ซึ่งสอดคล้อง กันถึง 7 เป้าหมาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดเช่น เป้าหมายที่ 14 อันว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล ด้วยการปรับกลยุทธ์การขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติม : researchcafe