ไข่ผำ จากวัตถุดิบอาหารพื้นบ้านสู่ Superfood ของโลกกับฉายา กรีนคาเวียร์

ไข่ผำ เป็นพืชน้ำ ลักษณะเป็นสีเขียวขนาดเล็กคล้ายไข่ปลา กระจายคลุมเหนือผิวน้ำเป็นแพ มีขึ้นอยู่ตามแหล่งน้ำที่เป็นน้ำนิ่ง เช่น บึง และหนองน้ำธรรมชาติทั่วไป โดยปกติจะมีมากในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่มีน้ำไหลเวียน ก่อนนำไปปรุงทำอาหารต้องล้างให้สะอาดเสมอ ไข่ผำ มักถูกนำไปประกอบอาหารมาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น แกง หรือผัด บางที่ก็ใส่เป็นส่วนประกอบของอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติให้มีความหอม มัน อร่อย มากยิ่งขึ้น

นอกจากจะเป็นวัตถุดิบหลักของอาหาร แล้วเป็นตัวช่วยในการเพิ่มรสชาติ ไข่ผำ ยังมีประโยชน์และคุณค่าทางสารอาหารอย่างมากเลยทีเดียว ไข่ผำมีโปรตีนสูงมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักแห้ง และโปรตีนของมันยังคล้ายกับของถั่วเหลืองอีกต่างหาก และในบางพื้นที่ สภาพแวดล้อม ทำให้ไข่ผำมีโปรตีนสูงมากกว่าไข่และเนื้อได้ด้วยเช่นกัน

ไข่ผำ 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 8 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใย 0.3 กรัม แคลเซียม 59 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 25 มิลลิกรัม เหล็ก 6.6 มิลลิกรัม และยังมีวิตามินเอ บีหนึ่ง บีสอง วิตามินซี ไนอะซิน และมีกรดอะมิโนที่จำเป็นหลายชนิด เช่น ลิวซีน ไลซีน วาลีน ฟีนิวอลานีน ธีโอนีน ไอโซลิวซีน และมีเบต้าแคโรทีนสูงมาก คลอโรฟิลล์ในผำ เป็นสารสีเขียวที่พบในพืช โครงสร้างมีลักษณะคล้ายฮีมที่อยู่ในฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในเลือด

มีรายงานการวิจัยถึงฤทธิ์ เช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ รักษาอาการท้องผูก ฤทธิ์ต้านการติดเชื้อ ช่วยปรับสภาพร่างกายให้เป็นด่างในคนที่มีสภาวะเครียด หรือร่างกายมีความเป็นกรดจากอาหาร และช่วยรักษาภาวะซีดในคนที่เป็นโรคโลหิตจาง

ด้วยประโยชน์ที่มากล้นเกินกว่าจะเป็นพืชไร้ชื่อเสียงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ได้กำหนดนโยบายอาหารแห่งอนาคต (Future Food Policy) เป็นหนึ่งในนโยบายหลักเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆให้กับประเทศตลอดห่วงโซ่เกษตรและอาหารเป็นการตอบโจทย์ผู้บริโภคทั่วโลกในยุคนิวนอร์มอล (New Normal) เดินหน้าส่งเสริมพืชเศรษฐกิจตัวใหม่คือผำหรือไข่ผำหรือไข่น้ำ (Wolffia) ซึ่งเป็นพืชน้ำล้ำค่ามีฉายาว่า ”คาเวียร์เขียว (Green Caviar)” ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นสุดยอดซูเปอร์ฟู้ด (SuperFood) ของอาหารแห่งอนาคต (Future Food) โดยสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

เหตุผลหลักที่ทำให้ “ไข่ผำ” กลายเป็น สุดยอดซูเปอร์ฟู้ด เพราะมีโภชนาการ (Nutrients) ครบถ้วนสูงมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ทั้งวิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ โปรตีน นั่นเอง

ขอบคุณภาพและข้อมูล : จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยแม่โจ้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *