“ขยะอาหาร” นับเป็นปัญหาในการกำจัด เนื่องจากมักจะปนเปื้อนกับขยะอื่นๆ โดยเฉพาะขยะรีไซเคิล ทำให้สูญเสียมูลค่าไป หนอนแมลงวันลาย จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ Food Loss Food Waste นำมาใช้กำจัด “ขยะอินทรีย์” สร้างรายได้ให้กับชุมชน
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าในปี 2560 มี “ขยะอาหาร” คิดเป็นร้อยละ 64 ของปริมาณทั้งหมด หรือ 254 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่ไทยมีการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์น้อยมาก ส่วนมากไม่มีการแยกขยะ และในส่วนของ กทม. สามารถ รีไซเคิล ขยะอาหารได้เพียง 2 % เท่านั้น
ขยะอินทรีย์ ด้วยตัวของมันเองไม่ได้มีปัญหา แต่พอมารวมกับขยะรีไซเคิล ไม่มีการแยกที่ต้นทาง เกิดการปนเปื้อน ทำให้แทนที่ขยะอินทรีย์และขยะรีไซเคิลจะมีมูลค่า แต่กลับกลายเป็นว่าเท่ากับศูนย์ เมื่อทุกอย่างลงไปอยู่ในหลุมฝังกลบทำให้เกิด ก๊าซมีเทน ซึ่งมีความร้ายแรงในการทำลายล้างชั้นบรรยากาศโลกมากกว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 28 เท่า
คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย ที่กำจัดขยะอินทรีย์ จากนั้นนำไปต่อยอดเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้ทางการเกษตร และเป็นต้นแบบองค์ความรู้แก่นักศึกษา ภายใต้การวิจัยการกำจัดขยะอินทรีย์ของคณะ
แมลงวันลาย (Black Soldier Fly) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Hermetia illucens พบได้ทั่วไปในสภาพภูมิอากาศเขตร้อนและเขตอบอุ่น ที่เส้นขนานที่ 45 องศาเหนือ และ 40 องศาใต้ เป็นแมลงที่ไม่เป็นพาหะนำโรค ไม่เป็นศัตรูพืชและไม่ก่อให้เกิดความรำคาญต่อชุมชน ตัวเต็มวัยมีสีดำขนาดความยาวมากถึง 20 มิลลิเมตร (Dortmans et al, 2017 and Sheppard et al, 2002) จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าหนอนแมลงวันลายมีโปรตีน 42-51% ไขมัน 35% พลังงาน 2, 900 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม หนอนแมลงวันลายมีประสิทธิภาพในการกำจัดขยะอินทรีย์รวมที่ 65.5-78.9% และแมลงวันลายจะพบน้อยมากในเดือนเมษายนและไม่พบในเดือนพฤศจิกายน ทีมวิจัยได้ค้นพบ “สูตรล่อแมลงวันลายเพื่อมาวางไข่” ได้สำเร็จ โดยสูตรดังกล่าวสามารถล่อให้แมลงวันลายมาวางไข่ได้ตลอดทั้งปี
คนทั่วไปจะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย เพื่อเป็นอาหารสัตว์ จากการศึกษา พบว่า เศษอาหารที่ปกติเขาเอาไปทำปุ๋ยหมัก หากใช้หนอนแมลงวันลาย สามารถลดก๊าซเรือนกระจก ได้มากกว่าวิธีธรรมดา 47 เท่า
ทั้งนี้ กระบวนการที่ Food Loss Food Waste ทำ ผ่านโซลูชั่น “3i” คือ Innovation ในการสอนชุมชนแยกขยะที่ต้นทาง สอนใช้ หนอนแมลงวันลาย (BSF) ในการกำจัดขยะ หลังจากนั้นวิจัยพัฒนาทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ทำ ให้การทำงานของชุมชนง่ายขึ้น และสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มจากหนอนแมลงวันลาย
ถัดมา คือ Infrastructure ในการออกแบบ ก่อสร้างให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม และสร้างธุรกิจเพื่อสังคมใหม่ไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน โครงสร้างนี้ก็จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนที่ทุกคนเข้าถึงได้และขยะจะไม่ไปอยู่ในหลุมฝังกลบ
สุดท้าย Inclusiveness ทุกคนหากมองว่าขยะอินทรีย์ คือ ทรัพยากร ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรนี้ได้ และทรัพยากรนี้หากผ่านวิธีการของเราแล้ว จะสามารถเพิ่มมูลค่า สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับชุมชน
ขอบคุณข้อมูล : bangkokbiznews, ดร.เทวี มณีรัตน์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นิคม
24/06/2023สนใจสั่งไข่ หรือหนอนแมลงวันลาย โทร 0844589997 หรือ facebook แหล่งเรียนรู้แมลงวันลายโคราช – BSF