“เชื้อแอสเปอร์จิลลัส”เชื้อราอันตรายจากหนังสือเก่า ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ภูมิคุ้มกันต่ำระวังติดเชื้อที่ปอดอาการรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิต
จากกรณีที่ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจโพสต์ในเพสบุ๊กส่วนตัวระบุเรื่องภัยใกล้ตัวจากการรื้อหนังสือเก่า จากกรณีพบผู้ป่วยชายอายุ 79 ปีเตรียมย้ายบ้านไปอยู่คอนโดมิเนียม ให้คนในบ้าน 2 คนช่วยรื้อหนังสือเก่าที่เก็บไว้กว่า 20 ปีเพื่อนำไปทิ้งและเก็บไว้บางส่วนโดยตัวเองไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ผู้ป่วยรายนี้มีโรคประจำตัวที่รักษาด้วยยากลุ่มสเตียรอยด์และยากดภูมิ หลังจากนั้นอีก 9 วันมีอาการไอแห้งๆ เหนื่อย ไข้ ฟังเสียงปอดปกติ เอ็กซเรย์ปอดผิดปกติทั้งสองข้าง คอมพิวเตอร์สแกนปอดทั้งสองข้างพบเสมหะสีขาวเล็กน้อย ส่งเสมหะตรวจพบเชื้อราและทำการเพาะเชื้อพบเชื้อแอสเปอร์จิลลัส ฟูมิกาทัส (aspergillus fumidatus) หมอทำการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อรา คนไข้อาการค่อยๆดีขึ้น ซึ่งคนที่ช่วยย้ายหนังสือไม่มีใครป่วย เพราะสุขภาพแข็งแรง ภูมิต้านทานดี
ศ.ดร.เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ให้ความรู้เรื่องเชื้อแอสเปอร์จิลลัส ว่าเป็นเชื้อราที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม เคยมีการศึกษาหาชนิดเชื้อราในหนังสือเก่าของหอสมุดแห่งชาติ พบเชื้อราในหนังสือ กลุ่มแอสเปอจิรัสเป็นหลัก และศึกษาเชื้อราในอากาศของห้องเก็บหนังสือทั้งห้องธรรมดาและห้องแอร์ก็พบเชื้อรากลุ่มเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะแอสเปอร์จิลลัส ฟูมิกาทัส (aspergillus fumigatus) เพราะหนังสือที่เก็บไว้นานอาจมีฝุ่นเกาะหลายอนุภาคซึ่งอนุภาคหนึ่งในนั้นคือสปอร์ของเชื้อราในอากาศปริมาณมาก ที่ตกลงทับถมและเติบโตบนหนังสือ เชื้อราเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่ความชื้นค่อนข้างสูง เช่น ภาคใต้ซึ่งฝนตกบ่อย บางทีอาจเจอเชื้อราตามเสื้อผ้าถ้าตากไม่แห้ง ตามโต๊ะ เตียง เฟอร์นิเจอร์ไม้อัด หรือแม้แต่แหล่งภายนอก เช่น ขยะ กองปุ๋ย ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยสารอาหารและความชื้น ก็อาจมีเชื้อรา ซึ่งสปอร์เชื้อราก็สามารถล่องลอยอยู่ในอากาศ ลอยเข้ามาในบ้านได้เหมือนกัน
อาจารย์เสาวลักษณ์ให้ข้อมูลว่า เชื้อรากลุ่มแอสเปอร์จิลลัสขนาดเล็กมาก ประมาณ 2-3 ไมโครเมตร สามารถเข้าในหลอดลมฝอยเล็กๆ ส่วนของผิวสปอร์เป็นหนาม เกาะเนื้อเยื่อได้ง่ายและทนทานต่อสภาพแวดล้อม เมื่อเข้าสู่ร่างกายมักทนทานต่อการกำจัดของเม็ดเลือดขาว กลุ่มเสี่ยงเช่น คนที่มีโรคเรื้อรัง เชื้อฉวยโอกาสอาจบุกรุกเข้าไปในเนื้อเยื่อของปอด เคยมีรายงานเชื้อราเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในปอดของคนไข้ เกิดอาการปอดอักเสบเรื้อรัง หรืออาการค่อยเป็นค่อยไป ไอ เป็นๆหายๆ สาเหตุไม่เด่นชัด หากการตรวจวินิจฉัยไม่ดีพออาจตรวจพบหลังคนไข้เสียชีวิตแล้ว คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ อาจทำให้เกิดภาวะภูมิแพ้ หลังจากสูดหายใจเอาเชื้อราเข้าเป็น มีอาการคล้ายหอบหืด หรือเป็นหอบหืดอยู่แล้วด้วย สูดสปอร์เชื้อเข้าไปอีก อาการหอบหืดอาจจะหนักขึ้น และสุดท้ายคือโรคปอดติดเชื้อเปอร์จิลลัสชนิดรุกราน กรณีนี้มักจะพบในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง รุกรานคือสามารถจะกระจายไปอวัยวะอื่น เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยเอดส์
นอกจากเจอเชื้อราแอสเพอร์จิลัส จากหนังสือเก่าเก็บแล้ว อาจเจอในสภาพแวดล้อมทั่วไป อ.เสาวลักษณ์แนะนำวิธีการป้องกันโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง ควรใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำ รวมทั้งคนได้รับยาคีโม ผู้ป่วยที่ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ยิ่งกลุ่มเสี่ยงสูงควรพิจารณาก่อนไปสัมผัสผู้คน สิ่งแวดล้อม ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
ขอขอบคุณข้อมูล : หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC