เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับภาคี ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เพื่อปกป้องสังคมไทยให้ปลอดจากภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการใช้ความรู้และหลักฐานวิชาการ เพื่อปกป้องประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ให้อยู่รอด เติบโต และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมไทยที่ปลอดจากภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 12 ภายใต้หัวข้อ “ภัยแอลกอฮอล์ : ความเสมอภาค และการเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน” ที่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมประชุมรับรู้ถึง ภัยมากมายที่เป็นผลจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีต่อสังคมไทยในทุกวันนี้ เนื่องด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เป็นสินค้าธรรมดา แต่เป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม จึงควรตั้งภารกิจสำคัญนี้อันดับต้น ๆ ของรัฐบาล เพื่อการมีสุขภาวะดี นำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมไทย โดยมาตรการเดิมในการควบคุมการบริโภคและปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังพบว่ามีหลายตัวชี้วัดยังไม่ผ่านเกณฑ์ ประกอบกับปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเชิงบริบทที่ท้าทายในการทำงานควบคุมปัญหาสุราของประเทศไทยหลายด้าน เช่น การเข้ามามีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มผู้ผลิตสุรารายใหญ่ และประเด็นปลดล็อกเงื่อนไขการผลิตของผู้ผลิตรายย่อย รวมถึงการรวมกลุ่มของประชาชนที่สนับสนุนในประเด็นดังกล่าว โดยอ้างถึงสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องมีแนวรุกใหม่ ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับบริบทของไทยมากยิ่งขึ้น
ในการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 12 นี้ จึงเกิดแนวคิดและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งในเรื่องของ ผู้บริหารระดับสูง และบุคลากรทุกจังหวัดต้องร่วมกันทำงาน ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้น ตามแผนปฏิบัติการด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2570) ผู้นำประเทศ ผู้นำชุมชน และประชาชนทุกคนจะร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ทุกคนในสังคม ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ และปลอดจากภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจำกัดการเข้าถึงและการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่แฝงเข้ามาในรูปแบบต่างๆ ร่วมรณรงค์สร้างค่านิยมใหม่ให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรระดับท้องถิ่น รวมถึงองค์กรเอกชน ให้ไม่ยอมรับทุนอุปถัมภ์จากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในการจัดงานบุญประเพณีหรือกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร โดยผู้บริหารประเทศไทยจะเป็นผู้นำ และมีส่วนร่วมกับประชาคมโลก ในการสร้างกรอบพันธสัญญาในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับสากล เช่นเดียวกับกรอบพันธสัญญาควบคุมยาสูบระดับสากล ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ
และประชาชนควรมีส่วนในการติดตามและท้วงติงอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ในเรื่องการโฆษณา การตลาด และการให้ทุนอุปถัมภ์ เพื่อจูงใจเด็ก เยาวชน สตรี และบุคคลที่ไม่ควรดื่มให้ดื่มสุรา โดยคำนึงถึงข้อแนะนำสำหรับบุคคลที่ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกระทรวงสาธารณสุข
โดยผู้เข้าร่วมการประชุมมีความเชื่อมั่นว่า รัฐบาล ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนจะยึดมั่นในผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ อันได้แก่ การมีสุขภาพดีเหนือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การควบคุมปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามข้อเสนอข้างต้นอย่างจริงจัง จะทำให้ประเทศชาติมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ และช่วยให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนสืบต่อไป
ทั้งนี้ภายในงานการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 12 มีการนำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบเชิงสังคม การโฆษณา การตลาด ส่งเสริมการขาย และการให้ทุนอุปถัมภ์ ประเด็นผลกระทบเชิงสุขภาพและการบำบัดรักษาจากภัยแอลกอฮอล์ ประเด็นพฤติกรรมการดื่ม การขับขี่หลังดื่ม และค่านิยมเพื่อลดการดื่ม ประเด็นมาตรการการควบคุมการเข้าถึงทางกายภาพและราคา และประเด็นการพัฒนาระบบสนับสนุนและบริหารจัดการที่ดี โดยมีผู้ได้รับรางวัลดีเด่นการนำเสนอผลงานวิจัยด้วยวาจา ดังนี้
รางวัลดีเด่นการนำเสนอผลงานวิจัยด้วยวาจา
1. นางสาวสมพร สิทธิสงคราม
เรื่อง การพัฒนาโปรแกรมป้องกันการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัยรุ่น โดยการมีส่วนร่วมของบ้าน ชุมชน และโรงเรียน ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
2. นายไพรัตน์ อ้นอินทร์
เรื่อง การปรับลดพฤติกรรมนักดื่มสุราที่เสี่ยงต่อสุขภาพ โดยการประสานความร่วมมือของเครือข่ายและคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ (พชอ.) อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก
3. นางสาวสุวัฒนา เกิดม่วง
เรื่อง A Social Ecological Model of Anti-drunk driving Behaviors among Online Food Delivery (OFD) Drivers in Suphanburi Province, Thailand
รางวัลดีเด่นการนำเสนอผลงานวิจัยด้วยโปสเตอร์
นางสาวฟาตอนะห์ จารู
ชื่อเรื่อง การบริโภคสุรา สารเสพติด และสุขภาพจิตในเยาวชนผู้กระทำความผิด
รางวัล Popular Vote การนำเสนอผลงานวิจัยด้วยโปสเตอร์
นางสาวร่มตะวัน กาลพัฒน์
ชื่อเรื่อง การมีส่วนสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) ต่อการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย: การศึกษาจากมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย