เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงนามบันทึกข้อตกลง กับสำนักงานอุตสาหกรรม และ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร. นิวัติ แก้วประดับ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รศ.ดร.อัญชนา ประเทพ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ คุณอารีรัตน์ สิริศาสตร์กุล รักษาราชการแทนอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา และคุณสุวิทย์ ตันรัตนากร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ลงนามข้อตกลงทางวิชาการในการร่วมมือกันในการบริการวิชาการ การให้คำปรึกษาการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเพื่อภาคอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2593 ในประเด็นของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและร่วมมือกันจัดการก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases : GHGs) สำหรับภาคอุตสาหกรรม และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการชดเชยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ หรือผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นต่ำพร้อมทั้งร่วมมือในการพัฒนากำลังคนเพื่อทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคอุตสาหกรรม ผ่าน หลักสูตรร่วมกับภาคอุตสาหกรรมใน “โครงการวิทยาศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม (Science for Industry : Sci-FI)” การพัฒนาทักษะ (Reskill – Upskill)
ผศ.ดร. นิวัติ แก้วประดับ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์และพันธกิจของม.อ. เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อนวัตกรรมและสังคมที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ จากวัตถุประสงค์และกิจกรรมของความร่วมมือในการร่วมกันขับเคลื่อนในประเด็นของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านการจัดตั้งหน่วยตรวจสอบและรับรองมาตรฐานคาร์บอนเครดิตประจำภูมิภาค (Validation and Verification Body : VVB) พร้อมการพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนากำลังคนในการศึกษาและพัฒนาการลดและชดเชยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งมีความสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งครับกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์กับสังคมอย่างยั่งยืน
จะเห็นได้ว่าก๊าซเรือนกระจกมีผลกระทบของธรรมชาติและมนุษย์ ต่อปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก โดยธรรมชาติแล้ว ก๊าซเรือนกระจกจะช่วยรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้อยู่ในระดับที่คงที่ อย่างไรก็ตาม กิจกรรมที่ดำเนินการโดยมนุษย์กลับส่งผลให้เกิด “ภาวะโลกร้อน (Global Warming)” ซึ่งในอนาคตถ้าไม่ดูแลจะเกิดผลเสียกับโลกอย่างแน่นอน
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัช ทวีปรีดา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวในรายการแลบ้านแลเมือง (วันที่ 27 ตุลาคม 2565) ว่า กลุ่มอาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มีการศึกษาเรื่องการชดเชยของคาร์บอนจากการปลูกป่า หรือทรัพยากรทางทะเล หรือที่เรียกว่า Blue carbon ซึ่งเรื่องของการลดก๊าซเรือนกระจกมีด้วยกัน 2 มิติ คือ 1.ลดการปลดปล่อย ในส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับ Circular Economy 2. การชดเชยก๊าซเรือนกระจกโดยการปลูกป่า อย่างเช่นในภาคใต้มีพื้นที่สีเขียวเยอะ มีต้นยางพารา มีไม้ยืนต้นต่างๆนานา ที่สามารถนำมาชดเชยได้ นี่จึงเป็นโอกาสนึงที่ทาง SME มีโอกาสสร้างรายได้ในอนาคต
โดยมีกลุ่มนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ที่มีการทำงานร่วมกับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน): TGO ซึ่งได้มีการจัดการเรื่องการชดเชยคาร์บอนด้วย Blue carbon ทางภาคอุตสาหกรรมจึงเกิดความสนใจ เนื่องจากหากภาคอุตสาหกรรมไหนที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะก็ต้องมีการชดเชยจากการซื้อขายคาร์บอน หรืออาจมีตลาดซื้อขายคาร์บอนเกิดขึ้นในอนาคต นี่จึงเป็นที่มาในการลงนาม MOU ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรม และ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา
ขอบคุณข้อมูลจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์