Funtional Ingredient (น้ำมันรำข้าว รำข้าวเสถียร แป้งและโปรตีนย่อยบางส่วน) จากข้าวสังข์หยด สู่อาหารนวัตกรรม Funtional Food ตอบโจทย์ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพและอาหารเชิงหน้าที่

Funtional Ingredient (น้ำมันรำข้าว รำข้าวเสถียร แป้งและโปรตีนย่อยบางส่วน) จากข้าวสังข์หยด สู่อาหารนวัตกรรม Funtional Food ตอบโจทย์ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพและอาหารเชิงหน้าที่

รายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เดือนมีนาคม 2564 ระบุว่าตลาด funtional ingredient มีมูลค่ากว่า 1.81 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพราะความต้องการในตลาดสูงสอดรับกับความสนใจดูแลสุขภาพ การเติบโตของ Wellness Economy และความต้องการอาหารโลกเพิ่มมากขึ้น โดย funtional ingredients จะถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้น ข้าวสังข์หยดพัทลุงเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดพัทลุงที่มีศักยภาพที่จะนำ funtional ingredient หรือส่วนประกอบฟังก์ชันมาใช้ประโยชน์ 

รศ.ดร.สันทัด   วิเชียรโชติ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.สงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการยกระดับการผลิตส่วนประกอบฟังก์ชันจากข้าวมีสีอัตลักษณ์ไทยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์:กรณีนำร่องข้าวสังข์หยด อธิบายว่า ส่วนประกอบฟังก์ชันในอาหารหรือ funtional ingredient คือวัตถุเจือปนในอาหารที่มีประโยชน์ โครงการผลิต funtional ingredient จากข้าวสังข์หยดพัทลุง เป็นความร่วมมือของนักวิจัยม.สงขลานครินทร์ ม.ทักษิณ กลุ่มวิสาหกิจและบริษัทเอกชน ต้องการเพิ่มมูลค่าข้าวสังข์หยดซึ่งแต่เดิมอาจมีเพียงข้าวกล้อง หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปพื้นฐาน โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(บพข.) พัฒนาจากงานวิจัยข้าวสังข์หยดที่ศึกษา วิเคราะห์องค์ประกอบพื้นฐานของข้าว ได้ funtional ingredient  4 คือน้ำมันรำข้าว รำข้าวเสถียร แป้งย่อยบางส่วนและโปรตีนย่อยบางส่วน

ผลิตภัณฑ์แรกคือรำข้าวเสถียร นักวิจัยร่วมพัฒนากับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง จากเดิมกลุ่มมีโรงสีข้าวมาตรฐานจีเอ็มพี  ผลิตเชิงพาณิชย์ ขายข้าวกล้องส่วนรำข้าวขายเป็นอาหารสัตว์ นักวิจัยพัฒนานำรำข้าวไปคั่วให้กลิ่นหอม บดละเอียด ร่อนเอาแต่เนื้อรำละเอียด เพิ่มมูลค่าขายในรูปแบบผง ประโยชน์คือรำข้าวเป็นแหล่งใยอาหาร ช่วยขับถ่ายได้ดี ช่วยควบคุมน้ำหนักได้ดี มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่ดี ลดการนำเข้ากลูโคส ควบคุมน้ำตาล 

ผลิตภัณฑ์ที่สองคือน้ำมันรำข้าว ทีมวิจัยพัฒนาร่วมกับไทยเฮิร์บ ผู้ประกอบการซึ่งเป็นพันธมิตรและอยู่ไม่ไกลจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง โดยชุมชนบ้านเขากลางเป็นแหล่งวัตถุดิบ ส่งรำและข้าวกล้องให้บ้านไทยเฮิร์บ นักวิจัยพัฒนาการสกัดน้ำมันรำข้าวด้วยการหีบเย็นรำที่ผ่านการคั่ว แล้วนำไปกรองให้ใส ซึ่งน้ำมันรำข้าวสกัดเย็นมีแอนดี้ออกซิเด้นท์ที่โดดเด่นมากคือแกมมาออริซานอลกับวิตามินอี 

ผลิตภัณฑ์ที่สามคือโปรตีนข้าวย่อยบางส่วน ผลผลิตงานวิจัยที่ทำร่วมกับบริษัทโอรี่เนเจอรัล โปรดักส์ อ.สันทัดอธิบายว่าปกติร่างกายจะย่อยโปรตีนให้กลายเป็นกรดอะมิโนแล้วดูดซึม แนวคิดของโปรตีนข้าวย่อยบางส่วนคือช่วยการดูดซึมโปรตีนให้ง่ายขึ้น ลดการทำงานของร่างกาย นับเป็นโปรตีนในประเทศทดแทนการนำเข้า

โปรตีนถั่วเหลือง และโปรตีนจากข้าวมีคุณสมบัติไม่ก่อภูมิแพ้ การผลิตโปรตีนข้าวย่อยบางส่วน ใช้การแยกโปรตีนจากข้าว นำโปรตีนมาย่อยบางส่วน เพื่อให้ร่างกายดูดซึมและฟังก์ชั่นได้เร็วขึ้น  รูปแบบโปรตีนข้าวบางส่วนเป็นผงชง ลักษณะคล้ายนม โปรตีนผง 100 กรัมให้โปรตีน 30 กรัม คือให้โปรตีน 30 เปอร์เซ็นต์

ผลิตภัณฑ์สุดท้ายจากโครงการฯคือแป้งข้าวย่อยบางส่วน ซึ่งร่วมพัฒนากับบริษัท คชศิลป์เบเวอเรจซึ่งต้องการนำข้าวสังข์หยดผสมในกาแฟสูตรดั้งเดิมที่ผสมข้าวสังข์หยดอยู่แล้ว แต่คุณภาพยังไม่ดีพอ หลังใส่แป้งผ่านการย่อยบางส่วน คุณภาพกาแฟดีขึ้น เพราะแป้งย่อยบางส่วนละลายน้ำได้ดีกว่า แป้งข้าวมีกลิ่นหอมเพราะผ่านการคั่ว เสริมกลิ่นรสของกาแฟ 

อ.สันทัดกล่าวว่าโครงการฯดำเนินไปแล้วประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กลุ่มวิสาหกิจและผู้ประกอบการทั้ง 3 แห่งผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว และอ.สันทัดยังย้ำทิ้งท้ายว่าเป้าหมายสำคัญของโครงการฯคือการผลิตวัตถุดิบในประเทศ ผลิตเองและส่งออก funtional ingredient แทนที่จะเป็นผู้ซื้ออย่างเดียวเท่านั้น 

.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *