สงขลานครินทร์ จับมือ 7 มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกความเข้าใจเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN) ระยะที่ 3 และเข้าร่วมการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ห้องประชุม อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ 8 มหาวิทยาลัยร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN) ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
RUN (Research University Network : RUN) เกิดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ในการวิจัย พัฒนาศักยภาพ สร้างขีดความสามารถทางการศึกษา การวิจัยและพัฒนาของประเทศสู่ภูมิภาค ภายใต้แนวคิดด้วยความจริงใจ ความเท่าเทียม และมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Sincerely, Equally, Excellently) โดยสร้างงานวิจัยจากโจทย์วิจัยที่มีความสำคัญต่อประเทศ ภูมิภาคและของโลกเป็นตัวตั้ง ด้วยความมุ่งมั่นว่างานวิจัยดังกล่าวจะตอบสนอง และเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาในอนาคต
อีกทั้งจะเป็นศูนย์กลางการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศและภูมิภาคอาเซียน ภายใต้กรอบแนวความคิดการร่วมมือกันคือ การแบ่งปันทรัพยากรในการวิจัย (resource sharing) โดยเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย มุ่งพัฒนางานวิจัย ใน 6 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย พลังงาน อาหารและน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วัสดุศาสตร์ สุขภาพ และอาเซียนศึกษา มีการแบ่งปันทรัพยากรในการวิจัย อาจารย์และนักวิจัย นิสิตนักศึกษาทุกระดับจนถึงหลังปริญญาเอก เครื่องมือวิจัย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวิธีการบริหารงานวิจัย และร่วมกันสร้างโครงการวิจัยและวิเคราะห์ปัญหางานวิจัยร่วมกัน
ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำเร็จของการดำเนินการของเครือข่าย RUN ในช่วงเวลาที่ผ่านมากกว่า 8 ปี ตั้งแต่พุทธศักราช 2558 – 2566 ภายใต้แนวคิดด้วยความจริงใจ ความเท่าเทียม และมุ่งสู่ความเป็นเลิศ จะเป็นมิติใหม่ของการวิจัยและต้นแบบให้แก่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ที่แปลงวจีกรรมว่า “มหาวิทยาลัยควรมีการทำงานร่วมกัน ให้เป็นกิจกรรมที่ทำได้จริง ดังเช่นตัวอย่างของการรวมตัวเป็นเครือข่าย RUN”
นอกจากนี้ยังมีการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เป็นประธานในการประชุม และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ลงนาม เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย กับสถาบันอุดมศึกษา
เพื่อให้การดำเนินงานตามภารกิจของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ขอบคุณข้อมูล : chiangmainews