มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สภาพัฒน์ฯ เปิดเวทีระดมความคิดเห็น โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยกองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ปรึกษาโครงการ จัดการประชุมปฐมนิเทศ โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวรายงาน

โครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่เกิดขึ้นมาจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ที่มอบหมายให้ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และแผนแม่บทต่าง ๆ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมา สศช. ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมายกร่างขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา และใช้ในกระบวนการจ้างที่ปรึกษา โดยวิธีคัดเลือก และสำนักงานฯ สามารถคัดเลือกมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาเป็นที่ปรึกษาโครงการ เพื่อทำหน้าที่จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี โดยใช้กระบวนการ SEA ตามแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของ สศช. เพื่อทำแผนให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ คำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนา ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

โครงการนี้มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือน โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการแสดงความคิดเห็นในทุกขั้นตอนของการจัดทำแผนแม่บทด้วย SEA ซึ่งได้กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 40 เวที ทั้งนี้ยังไม่นับรวมการหารือกลุ่มย่อยแบบไม่เป็นทางการอีกหลายครั้ง ซึ่งการประชุมปฐมนิเทศในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยกระบวนการ SEA อย่างเป็นทางการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ SEA สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ รวมทั้งประชาสัมพันธ์โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี และเพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการฯ ประเด็นปัญหาที่สำคัญในพื้นที่โครงการฯ และภาพอนาคตที่ต้องการและแนวทางการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนจากผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ การจัดงานในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย

1. สำนักงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สถาบันการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาลองค์การบริหารส่วนตำบลที่เป็นที่ตั้งของพื้นที่เป้าหมายทั้งในจังหวัดสงขลาและปัตตานี เป็นต้น 2. ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา เช่น หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรม สมาคมส่งเสริมการโรงแรมและการท่องเที่ยว 3. ภาคประชาสังคมและ ภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่อาศัยในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลาและปัตตานี เช่น กลุ่มประมงพื้นบ้านจังหวัดสงขลา กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น สมัชชาประชาคมเพื่อสันติภาพ สภาประชาคมชายแดน และกลุ่มประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี และ 4. สื่อมวลชน ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคการปฐมนิเทศในช่วงเช้า เป็นการนำเสนอ ที่มาและวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ขั้นตอนและแผนการดำเนินงานโครงการฯ โดย ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (หัวหน้าโครงการ) และการระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม โดย ดร.สินาด ตรีวรรณไชย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาระบบบริหาร และ ดร.สมัชชา นิลปัทม์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

และในช่วงบ่าย เป็นการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อระดม ความคิดเห็น ใน 3 หัวข้อ ได้แก่ (1) ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อสงสัย หรือความกังวลต่อโครงการฯ (2) ประเด็นปัญหาที่สำคัญในพื้นที่โครงการฯ และ(3) ภาพอนาคตที่ต้องการและแนวทางการพัฒนาพื้นที่ อย่างยั่งยืน รวมทั้งสรุปผลการระดมความคิดเห็นและปิดการประชุมผลจากการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ ที่ปรึกษาจะนำไปประมวลผลและวิเคราะห์ถึงการกำหนดกรอบทิศทางของการพัฒนารวมถึงกำหนดเป้าหมายและประเด็นสำคัญที่ควรจะดำเนินการเพื่อให้บรรลุซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการกำหนดขอบเขต ที่เป็นขั้นตอนแรกในกระบวนการ SEA โดยที่ปรึกษาจะนำ ผลการวิเคราะห์กลับมารับฟังความคิดเห็นในการประชุมเวทีต่อ ๆ ไป

ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของโครงการฯ ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของสภาพัฒน์ฯ Facebook: @SEASongkhlaPattani หรือประสาน ฝ่ายพันธกิจสังคม สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *