เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรคและภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบระดับจังหวัดทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายสื่อมวลชนศูนย์ข่าวปลอดควัน เครือข่ายครู, เยาวชน Gen Z Gen Strong ,องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จำนวน 150 คน เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ “คนใต้ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” โดยมี นายเอกชัย เลิศวิบูลย์ลักษณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธานในการกล่าวนำ พร้อมด้วย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ รวมทั้งนายจูรี นุ่มแก้ว ดาวติ๊กต๊อก( Influencer จูรี แหลงเล่า ) และ น.ส.นรารัตน์ ศรีเปารยะ เทพีแม่หม้าย นครหาดใหญ่ ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นสื่อมวลชนอาสาศูนย์ข่าวปลอดควันจังหวัดสงขลา ร่วมประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้ด้วย เพื่อเป็นการย้ำจุดยืน คนใต้จะร่วมมือกันรณรงค์ป้องกันประชาชนภาคใต้ทุกคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ให้ปลอดพ้นจากการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ
นายเอกชัย เลิศวิบูลย์ลักษณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ประธานในการประกาศเจตนารมณ์ “คนใต้ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ได้นำประกาศเจตนารมณ์ และผู้ร่วมงานกล่าวตาม โดยคำประกาศเจตนารมณ์ “คนใต้ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” และหลังจากการประกาศเจตนารมณ์แล้วนั้น เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์และจุดยืนของภาคีเครือข่ายทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ตัวแทนเยาวชน GEN X GEN STRONG แต่งตัวเป็นบุหรี่ไฟฟ้าชักจูงให้เด็กเยาวชนหลงเชื่อ เข้าไปยุ่งเกี่ยวบุหรี่ไฟฟ้า แต่จากเด็กๆก็สามารถหลุดพ้นจากบุหรี่ไฟฟ้าได้จากการตระหนักรู้ของตนเองและทุกคนร่วมมือกันรณรงค์ป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้ากับกลุ่มเด็กและเยาวชนถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าขยายวงกว้างไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยประกาศเสียงดังกึกก้องว่า “คนใต้ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ.2564 พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปล่าสุด เท่ากับ ร้อยละ 17.4 มีจำนวนผู้สูบบุหรี่เท่ากับ 9.9 ล้านคน หากมองภาพรวมของประเทศลดลงจากรอบสำรวจที่ผ่านมา แต่ที่ยังน่าเป็นห่วงคือ อัตราการสูบบุหรี่ของภาคใต้สูงที่สุดของประเทศไทย และยังมีปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าขยายวงกว้างไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่เด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะเกิดการเสพติดนิโคตินสารเสพติดตัวเดียวกันกับที่มีอยู่ในบุหรี่ธรรมดาไปตลอดชีวิต
จากข้อมูลผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า ประชากรไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีจำนวน 78,742 คน คิดเป็นอัตรา 0.14% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีจำนวนทั้งหมด 57 ล้านคน เป็นคนที่สูบทุกวัน 40,724 คน และสูบแบบไม่ทุกวัน 38,018 คน โดยผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 24,050 คน อายุระหว่าง 15-24 ปี ในขณะที่ภาคใต้ มีผู้สูบบุหรี่ทั้งสิ้น 1.7 ล้านคน คิดเป็น 22.4% ของประชากรภาคใต้ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นภาคที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุดในประเทศไทย และสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนเริ่มแพร่ระบาดอย่างหนัก เด็กและเยาวชนเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันอย่างเปิดเผยดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งหากมีการยกเลิกกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า จะทำให้การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนยิ่งรุนแรงมากขึ้น