ม.สงขลานครินทร์ วข.ตรัง ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย จัดงานยางพาราแห่งชาติ ครั้งที่ 1 Rubber Expo 2023

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิเชตวุฒิ นิลละออ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิจัยและพันธกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ให้สัมภาษณ์ในรายการเครือข่ายสายตรงวิทยุสถาบัน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ช่วงสนทนาสถาบันว่า เนื่องจาก จ.ตรัง เป็นเมืองพระยารัษฎาฯ ซึ่งพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี เป็นอดีตเจ้าเมือง จ.ตรัง และยังเป็นบุคคลสำคัญที่นำยางพาราต้นแรกมาปลูกที่ จ.ตรัง และได้พัฒนาเมืองให้เจริญก้าวหน้าจนกลายเป็นเมืองเกษตรกรรม จึงเป็นการร่วมมือกันของการยางแห่งประเทศไทยและจังหวัดตรัง โดยเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทั้ง 5 วิทยาเขต (หาดใหญ่ ตรัง ภูเก็ต ปัตตานี สุราษฎร์ธานี) ซึ่งได้จัดงานขึ้นที่ จ.ตรัง เนื่องจากเป็นเมืองที่มียางพาราต้นแรกปลูกขึ้นนั่นเอง โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานคือ 1.การเชิดชูเกียรติของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ซึ่งปกติเราก็มีกิจกรรมนี้ขึ้นทุกปีอยู่แล้วในเทศกาลเช็งเม้ง 2.เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับยางพารา 3.การเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกร ผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยางพารา

การจัดงานยางพาราแห่งชาติ ครั้งที่ 1 Rubber Expo 2023 ระหว่างวันที่ 6-10 เมษายน 2566 ณ ศูนย์ประชุมเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยมีการยางแห่งประเทศไทยเป็นแม่งานใหญ่ ภาคีเครือข่ายหลักจากสภาอุตสาหกรรม หอการค้า จ.ตรัง และสาขาวิชาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ทำการศึกษาวิจัย พัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับยางพาราทั้ง 5 วิทยาเขต

ภายในงานมีกลุ่มกิจกรรม ประกอบด้วย นิทรรศการเชิดชูเกียรติพระยารัษฏาฯ โซนบอกเล่าความเป็นมา วิถีชีวิตชาวสวนยาง โซนการยกระดับยางพาราไทยสู่มาตรฐานระดับโลก โซนนวัตกรรมยางพาราก้าวไกล ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ การเสวนาหัวข้อต่าง ๆ อาทิ การเสวนาหัวข้อเศรษฐกิจกับประวัติศาสตร์ยางพารา , ข้อกำหนดใหม่กับโอกาสของยางพารา (Carbon credit และ Deforestation) กับอนาคตยางพารา , นวัตกรรมยางพารากับโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน “Rubber Innovation for BCG Economy” นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการประกวดเติมความสนุก เช่น การประกวดสุนทรพจน์ หัวข้อ พัฒนายางพาราวิถีใหม่ ไทยยั่งยืน” การประกวดธิดาชาวสวนยาง การประกวดหนุ่มกรีดยาง การประกวดนวัตกรรมจากไม้ยาง การประกวดยางแผ่นรมควัน การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งเกษตรกรชาวสวนยาง การแข่งกรีดยาง เป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีการประชุมเครือข่ายสถาบันเกษตรกร การถ่ายทอดเทคโนโลยี การอบรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยาง และกิจกรรมท่องเที่ยวย้อนรอยพระยารัษฏาฯ รวมทั้งเป็นการสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราในศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การจัดแสดงสินค้า การจัดจำหน่ายสินค้าจากยางพารา ตลาดนัดแรงงาน โดยกลุ่มนวัตกรรมจากยางพาราเด่น ๆ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ 1.นวัตกรรมยางพาราจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในด้านการแพทย์ เช่น แผ่นกาวติดผิวหนังเพื่อป้องกันแผลติดเชื้อ แผ่นแปะประคบสมุนไพร แผ่นยางพาราเต้านมเทียม ฯลฯ ด้านการเกษตร เช่น แผ่นยางเคลือบผ้า แผ่นล่อแมลง วัตถุดิบยางธรรมชาติชนิดเม็ด จอกยางนาโน ฯลฯ และสินค้านวัตกรรมยางพารา เช่น กรวยอุดหลุ่มระเบิด แผ่นนำทางผู้พิการทางสายตา หมอนยางพารา อิฐยางพารา หมวกนิรภัยยางพารา เป็นต้น  

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิเชตวุฒิ นิลละออ ยังบอกอีกว่า “ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย หากราคายางดีก็จะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ปลูกยางพารา ซึ่งในปัจจุบันมีการปลูกยางพาราอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ การจัดงานยางพาราแห่งชาติในครั้งนี้จึงมีเป้าหมายหลักคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง การยกระดับเศรษฐกิจทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต(ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ) ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศและส่งผลต่อเนื่องถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน”

ภาพจาก trang.psu.ac.th

ติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook : Trang Rubber Expo

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *