โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เปิดคลินิกทรานส์เจนเดอร์ ให้บริการสุขภาพกลุ่มคนข้ามเพศทุกมิติ

โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ให้ความสำคัญต่อความหลากหลายทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคคลข้ามเพศ ซึ่งในอดีตสังคมยังไม่ยอมรับเรื่องเหล่านี้และมองว่าการเบี่ยงเบนทางเพศหรือการแปลงเพศเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ แต่ในทางการแพทย์สมัยใหม่ไม่ถือว่าความหลากหลายทางเพศเป็นความผิดปกติของทั้งร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม และยังได้ส่งเสริมให้บุคคลข้ามเพศเหล่านั้นได้เกิดความรู้ความเข้าใจในอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง ตลอดจนสนับสนุนด้านการดูแลรักษาที่ปลอดภัยให้แก่บุคคลข้ามเพศ ในการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายตามความปรารถนาของตนเอง ได้แสดงตัวตนของตนเองออกมาอย่างเปิดเผย และดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขในสังคม

ดร.พญ.ปดิพร ลิ้มอัมพรเพชร หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม สาขาวิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลาครินทร์ เล่าในรายการเครือข่ายสายตรงวิทยุสถาบันว่า จุดเริ่มต้นมาจากทีมแพทย์ต่อมไร้ท่อที่มีโอกาสในการดูแลคนไข้ที่มีฮอร์โมนขาดและฮอร์โมนเกิน เราจะทำอย่างไรให้คนไข้ได้ใช้ฮอร์โมนที่ถูกต้อง โดยผู้รับบริการสามารถข้ามไปสู่เพศที่ต้องการและเข้าถึงได้ทั้งกายและใจ ซึ่งในมุมมองของต่อมไร้ท่อที่มีหน้าที่ให้ฮอร์โมน ต้องการให้ผู้รับบริการได้ข้ามเพศอย่างปลอดภัย ถูกต้อง และเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือเพศชายหรือเพศอะไรก็ตาม

“ความเป็นเพศหลากหลายเป็นเพียงแค่พาร์ทเดียว แต่จะมีเรื่องของการรับรู้ว่าเราเป็นเพศอะไร ไม่อยากมีเพศอะไร ไปสู่การเลือกว่าร่างกายของเราเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมยอมรับมากขึ้น นอกจากนี้ก่อนเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนสภาพร่างกาย ต้องมีความพร้อมทางด้านจิตใจโดยผ่านการประเมินจากจิตแพทย์ เพื่อป้องกันความทุกข์ในเพศที่เป็น ในขณะเดียวกันยังมีทีมสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ศัลยกรรม ต่อมไร้ท่อเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งนี้คลินิกฯได้ตั้งหลักเรื่องของความปลอดภัยเป็นอันดับสูงสุด โดยผู้เข้ารับบริการต้องผ่านการประเมินจากจิตแพทย์จำนวน 2 ท่าน โดยประเมินว่าหากเปลี่ยนแปลงแล้วจะสามารถอยู่กับเพศที่เป็นอย่างมีความสุขจริง ๆ

“การผ่าตัดไม่เหมือนการให้ฮอร์โมน” เนื่องจากการให้ฮอร์โมนแล้วหยุดการให้ฮอร์โมนคนไข้สามารถกลับสู่เพศเดิมได้ แต่หากผ่าตัดไปแล้วจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเพศอย่างถาวร เพราะฉะนั้นในการตัดสินใจแพทย์ผู้มีความรู้ต้องเข้ามาอยู่ในทีมเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไข้ ยกตัวอย่าง หากเพศชายต้องการแปลงมาเป็นเพศหญิงอย่างสมบูรณ์ ต้องมีการทำศัลยกรรมโดยจำเป็นต้องตัดอวัยวะบางส่วนออกไป ส่งผลให้ฮอร์โมนเพศชายขาด ทีมแพทย์จึงเติมฮอร์โมนเพศหญิงให้คนไข้อย่างปลอดภัย เพราะการเติมฮอร์โมนเพศหญิงเกินขนาดอาจทำให้หลอดเลือดตันได้ง่าย ทั้งนี้รูปลักษณ์ภายนอกต้องอาศัยระยะเวลาค่อนข้างนานเพื่อลดการให้ฮอร์โมนที่เยอะเกินไป และต้องมีการติดตามระดับเลือดอยู่เสมอ

ดร.พญ.ปดิพร ย้ำว่า การซื้อฮอร์โมนกินเองตามโฆษณาชวนเชื่อ หรือการบอกต่อในสังคมโซเชียล อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ หากไม่ได้ตรวจร่างกายก่อน หรือใช้ปริมาณสูงเกินกว่าที่จำเป็น เมื่อใช้ไปเรื่อยๆ อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ หรือบางคนอาจมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ เพราะฉะนั้นการมาพบแพทย์เพื่อได้รับฮอร์โมนที่ถูกต้อง ในระยะยาวหากจำเป็นต้องรับฮอร์โมนเพศชายต่อเนื่องไปตลอดชีวิต ยิ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจติดตามสุขภาพ ตรวจติดตามการทำงานของอวัยวะสำคัญต่างๆ จากแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยและลดผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนให้น้อยที่สุด

คลินิกทรานส์เจนเดอร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ให้บริการแก่บุคคลข้ามเพศโดยเฉพาะ ช่วยให้บุคคลข้ามเพศได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ อัตลักษณ์ทางเพศ และสุขลักษณะทางเพศ อย่างครบวงจร โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา อาทิ สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา จิตเวช หน่วยต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ศัลยกรรม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายเข้ารับบริการได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 074 451 463

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *