สมาคมผู้บริโภคสงขลาเตือน! เครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกอาจไม่ถูกจริง หลังผู้บริโภค 2 รายร้องเรียนสมาคมฯหลงเชื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาแพงกว่าท้องตลาด
สรุปสถิติรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคของสมาคมผู้บริโภคสงขลา หน่วยประจำจังหวัดสงขลา สภาองค์กรของผู้บริโภค ตั้งแต่วันที่ 1-31 พ.ค.จำนวน 20 เรื่อง คือ ด้านการเงินการธนาคาร 3 เรื่อง ขนส่งยานพาหนะ 1 เรื่อง บริการสุขภาพและสาธารณสุข 5 เรื่อง สินค้าและบริการทั่วไป 10 เรื่อง การสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยี 1 เรื่อง เช่น ขอคำปรึกษากรณีรถเสียซ้ำซาก ทำให้ถูกเรียกเก็บเงินค่าซ่อมรถเพิ่ม ขอยกเลิกคอร์สเสริมความงาม ขอคำปรึกษา เรื่องถูกร้านล้างรูปยัดเยียดให้ล้างรูปพร้อมใส่กรอบ สั่งซื้อสินค้าทางเฟซบุ๊กแล้วได้ของไม่ตรงปก ไม่ได้รับสินค้า มีของมาส่งโดยไม่ได้สั่ง ย้ายสิทธิการรักษาพยาบาล ซื้อของออนไลนืแล้วถูกหักเงินในบัญชี เอสเอ็มเอสแอบอ้างหลอกขอข้อมูลส่วนตัว
คุณจุฑา สังขชาติ เลขาธิการสมาคมผู้บริโภคสงขลา ให้สัมภาษณ์ในรายการสภากาแฟเพิ่มภูมิบริโภคว่า อยากเตือนประชาชนเรื่องการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกนั้นแท้จริงราคาไม่ได้ถูกจริงแต่อาจเป็นกลยุทธ์กลลวงทางการตลาดให้ผู้บริโภคเชื่อและซื้อสินค้านั้นได้ เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีผู้บริโภค 2 รายที่ร้องเรียนเรื่องการถูกกลยุทธ์การขายของผู้ขายจนหลงเชื่อซื้อสินค้าที่แพงกว่าความเป็นจริง ผู้บริโภคทั้ง 2 รายพบปัญหาเดียวกัน กลวิธีเดียวกัน กลยุทธ์ทางการตลาดเหมือนกัน แต่ต่างสถานที่ กรณีแรก ผู้ร้องเรียนไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าและมีพนักงานของบูธขายสินค้าเข้ามาขอร้องให้ช่วยซื้อสินค้า เพื่อเธอจะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานบริษัทตัวแทนขายเครื่องกรองน้ำ เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยผู้ร้องรู้สึกสงสาร เลยซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าหนึ่งชิ้น นอกจากนั้นพนักงานยังสร้างแรงจูงใจเพิ่มด้วยการให้ผู้ร้องจับรางวัลบัตรลดราคา โดยที่ผู้ร้องจับได้บัตรเขียนส่วนลด 1 หมื่นบาท และสร้างสถานการณ์ให้ผู้ร้องรู้สึกว่าเป็นคนโชคดีเพียง 1 ใน 5 ของประเทศที่จับได้บัตรส่วนลด 1 หมื่นบาท เพิ่มตัวละครให้ผู้ร้องรู้สึกว่าตัวเองโชคดีด้วยการโทรศัพท์หาผู้จัดการว่าหาดใหญ่เจอลูกค้ามาจับสลากได้บัตรส่วนลด 10,000 บาท จนผู้ร้องเริ่มคล้อยตามว่าตัวเองเป็นผู้โชคดีและรู้สึกว่าคุ้มค่าที่ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนี้ จนเมื่อกลับถึงบ้านผู้ร้องได้ลองตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกันในแอพลิเคชั่นขายสินค้าพบว่าราคาสินค้าเพียง 9989 บาท แต่ผู้ร้องซื้อมาในราคา 20,000 บาท จากราคาขายที่บูธ 30,000 หักด้วยส่วนลดจากบัตรลด 10,000 บาท
ผู้ร้องรู้สึกว่าตัวเองโดนหลอกเลยติดต่อขอคืนสินค้าและขอเงินคืน แต่ในใบเสร็จรับเงินของสินค้ามีข้อความระบุว่าไม่รับคืนสินค้า ส่วนกรณีที่สอง เกิดขึ้นในห้างสรรพสินค้าอีกแห่งหนึ่ง เป็นบูธขายสินค้าเหมือนกันแต่มีชื่อบริษัท ผู้ร้องถูกพนักงานชักชวนให้เล่นเกมส์ จนผู้ร้องได้รางวัลคือบัตรวีไอพีและเป็นส่วนลด 10,000 บาทเช่นเดียวกันเลย วิธีการเหมือนที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องคนแรก ผู้ร้องคล้อยตามหลงเชื่อจนตัดสินใจซื้อเครื่องกรองน้ำ แต่ยังไม่ได้รับสินค้าในวันนั้น ได้เพียงใบสำคัญรับเงินระบุชื่อบริษัท ยอดเงิน และระบุว่าไม่รับเปลี่ยนคืนสินค้าทุกกรณีเช่นกัน ผู้ร้องเอะใจว่าไม่ใช่การขายจากบริษัทชั้นนำที่ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าจริงๆ เลยร้องเรียนสมาคมผู้บริโภคสงขลา ซึ่งทั้งสองกรณีอยู่ระหว่างการดำเนินการ