นักศึกษานิติศาสตร์ ม.อ. ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ไม่แบ่งสี-ฝ่าย หวังสังคมให้โอกาสคนเห็นต่าง

วันนี้ (13 ก.พ. 2567) เวลา 17:00 น. ที่ลานถนนคนเดินนักศึกษา ม.อ. หรือ PSU-Bizmall นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในฐานะตัวแทนจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach) ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อประชาชน เพื่อเสนอกฎหมายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมประชาชน หวังให้โอกาสคนเห็นต่างทางความคิด 

สำหรับรายละเอียดร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน เว็บไซต์ amnestypeople.com ระบุรายละเอียดและจุดประสงค์ของการเสนอว่า เพื่อ “ยุติการดำเนินคดีต่อประชาชนที่สืบเนื่องจากการชุมนุมและความขัดแย้งทางการเมืองแบบ “ไม่แบ่งสี” “ไม่แบ่งฝ่าย”” 

กรอบระยะเวลาการนิรโทษกรรมนับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา รวมทุกข้อหาจากการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งรวมถึง คดีความตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), คดีจากกฎหมายอาญามาตรา 112, พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ , พ.ร.บ. ประชามติฯ เป็นต้น แต่ไม่รวมถึงคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนในการสลายการชุมนุม และ คณะผู้ทำรัฐประหาร

หนึ่งในตัวแทนจากนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.อ. ให้สัมภาษณ์ถึงเป้าหมายการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อว่าต้องการสร้างความตระหนักรู้ทางการเมืองในสังคม และเห็นว่าการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้จะเป็นโอกาสของผู้เห็นต่างทางความคิดซึ่งถูกดำเนินคดีทางการเมือง

“จากมุมมองของนักกฎหมาย นับตั้งแต่ปี 2549 ขบวนการคนเสื้อแดง จนถึงตอนนี้ มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 รวมกว่า 1,938 คน ยกตัวอย่างคดีของคุณป้าอัญชัญ (อัญชัญ ปรีเลิศ) ที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ทั้งหมด 29 กรรม รวม 50 ปี เรียกได้ว่าเป็นการขัดการได้สัดส่วนของน้ำหนักการกระทำ 

“ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือคดีฆ่าผู้อื่นหรือกระทำชำเรา น้ำหนักโทษรวมกันแล้วยังไม่เท่ากับคดีที่แสดงความคิดเห็นซึ่งมีพื้นฐานมาจากการความแตกต่างทางความคิดและเป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพ

“ดังนั้น การผลักดันให้กับทุกคนที่เป็นเหยื่อของความอยุติธรรมเพียงแค่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหรือไม่ถูกใจคนบางส่วน คิดว่าการนิรโทษกรรมหรือให้อภัยก็สามารถทำให้เขาปรับเปลี่ยนทัศนคติหรือการแสดงออกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการให้โอกาสเขาด้วย” นักศึกษาคณะนิติศาสตร์กล่าว


‘สภากาแฟ’ เปิดเวทีถกเถียง แลกเปลี่ยนสาระความรู้และประเด็นทางสังคม

1ความคิดเกี่ยวกับ“นักศึกษานิติศาสตร์ ม.อ. ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ไม่แบ่งสี-ฝ่าย หวังสังคมให้โอกาสคนเห็นต่าง”

  1. เหตุผลที่นิรโทษ ก็คงต้องการเพื่อช่วยเหลือ ผู้ที่มีคดีความ ม.112 เป็นหัวใจสำคัญ เพราะมีผู้โดนคดีนี้มาก คดีอื่นคงไม่ได้เป็นเหตุผลมากนัก เพียงแต่ยกมาหากจะทำแต่คดีนี้อย่างเดียวก็ดูไม่งาม เลยต้องให้คดีอื่นด้วย แต่ถามว่า นิรโทษแล้ว ผู้ที่ได้รับการนิรโทษ เขาสามารถเปลี่ยนความคิด หรือมุมมอง หรือทัศนคติต่อ ม.112 หรือสถาบันหรือไม่ ก็คงไม่ เพราะความคิดคน ไม่ได้เปลี่ยนได้ง่ายนัก เมื่อเปลี่ยนไม่ได้ เขาก็ต้องแสดงออกแบบเดิมที่ทำให้เขาต้องโทษอีก ผู้ที่ได้รับโทษในดดีนี้ต้องยอมรับในสิ่งที่ตนเองทำ ว่า ผิดกฏหมาย ไม่เช่นนั้น ก็หาววิธีที่ถูกกฏหมาย คือ ให้กฏหมายนี้เข้าสภาให้ได้ แล้วไปโน้มน้าวสมาชิกรัฐสภาให้เห็นด้วย การที่เรียกร้องแต่นิรโทษ นั่นหมายถึง ต้องการทำผิด แต่ก็ไม่ต้องการรับโทษ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *