รู้จัก ‘ยางพาราเทอร์โมพลาสติก’ นวัตกรรมเพิ่มมูลค่ายาง แก้ปัญหาขยะพลาสติก

ยางพาราเทอร์โมพลาสติก

ยางพาราเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ แต่มูลค่าน้ำยางมักแปรผันตามฤดูกาล สภาพภูมิอากาศ หรือความต้องการของภาคธุรกิจอื่น และอีกหนึ่งสิ่งที่คู่กับพื้นที่ภาคใต้คือชายทะเล ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นคือขยะพลาสติกในท้องทะเลหรือตามชายหาด 

สองโจทย์สังคมนี้จึงเป็นสารตั้งต้นของการพัฒนา ‘ยางพาราเทอร์โมพลาสติก’ โดย ดร.ณัฐพล อุทัยพันธ์ วิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทย-จีน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และทีมวิจัย นำยางพาราผสมพลาสติกที่ได้จากการรีไซเคิลขยะเข้าด้วยกัน 

ด้วยส่วนผสมของยางพาราทำให้นวัตกรรมชิ้นนี้มีคุณสมบัติเหนียว คงทน และยืดหยุ่นมากกว่าพลาสติกทั่วไป และหนึ่งในการนำผลงานชิ้นนี้ไปใช้คืองานจักสานที่คณะนักวิจัยร่วมมือพัฒนากับวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดภาคใต้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราด้วยวิธีการแปรรูป

ดร.ณัฐพลให้ข้อมูลกับ ‘สถานีวิทยุ ม.อ. หาดใหญ่’ ว่า พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีผลผลิตรวมกันทั้ง 5 จังหวัด ราว 1 ใน 4 ของประเทศ และขณะเดียวกันจากผลผลิตยางพาราทั้งหมดของประเทศ ร้อยละ 80 

เป็นวัตถุดิบสำหรับการส่งออก และ มีการใช้งานเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในประเทศเพียงแค่ร้อยละ 20 เท่านั้น

เมื่อเศรษฐกิจภาคใต้พึ่งพิงกับราคาและมูลค่าของน้ำยางดิบ หากราคาผันผวนจึงส่งผลต่อการตัดสินใจประกอบอาชีพในระยะยาว ในที่นี้จึงรวมถึงแนวโน้มตัดสินใจโยกย้ายถิ่นฐานทำงานในต่างภูมิภาค-ต่างแดน เช่น มาเลเซีย  โจทย์ทางเศรษฐกิจ-สังคมนี้จึงมาคู่กับโจทย์ทางสิ่งแวดล้อมซึ่งมีปัญหาขยะพลาสติกตามชายฝั่ง 

จากโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งมหาวิทยาลัย (University to Tambon – U2T) ซึ่งมีโจทย์ให้ทางนักวิจัยทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน ทางทีมวิจัยได้รับโจทย์ให้ทำงานในพื้นที่จังหวัดสตูล จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนงานจักสานเพื่อนำยางพาราเทอร์โมพลาสติกรีดเป็นเส้นและนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์

“เราลงไปดูพื้นที่ก็พบว่าหลายชุมชนทํางานด้านจักสาน จากกระจูด เตย คล้า เราพบปัญหาว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้นี้มีฤดูกาล เช่น ช่วงหน้าฝนทำให้นำวัสดุมาใช้งานได้ลำบาก เนื่องจากมีความชื้นสูงซึ่งอาจส่งผลให้เกิดเชื้อรา ฯลฯ”

“เริ่มแรกก็ทําออกมาเป็นเส้น แล้วก็ส่งไปให้ทางชุมชนเขาทดลองเปรียบเทียบกับวัสดุเดิมว่าแตกต่างอย่างไร จะมีการปรับจูนกันจนสุดท้ายได้เป็นวัสดุที่กลุ่มชุมชนหรือชาวบ้านเอาไปสานให้คล่องมือจนขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้” นักวิจัยจากวิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทย-จีนเล่าเบื้องหลังการทำงาน

นอกเหนือจากความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนแล้ว ดร.ณัฐพล เผยว่าในขั้นต้นมีการนำยางพาราเทอร์โมพลาสติกไปใช้ในภาคแฟชัน หรือเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งทั้งภายในและภายนอก และในอนาคตอาจนำไปพัฒนาใช้งานเป็นกรวยจราจรหรือเสาล้มลุกตามท้องถนน 

ในมุมมองผู้ที่คลุกคลีกับการพัฒนาแปรรูปยางพารา ดร.ณัฐพลมองว่าภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมหรืองานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์หรือในหน่วยงานราชการด้วยกันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

“ปัจจุบัน เราใช้ยางพาราผลิตเป็นกําแพงกั้นเสียงบนทางด่วนสําหรับลดเสียงรบกวน หรือเรานำยางพารามาผลิตเป็นแผ่นสําหรับรองหินบัลลาสต์ใต้รางรถไฟเพื่อที่จะช่วยบํารุงรักษาและลดความเสียหายของทางได้ หรือจะนำไปผลิตเป็นผ้าฉาบสำหรับเก็บน้ำในพื้นที่ฝนตกน้อยก็ยังได้

“เราควรดูมีความต้องการ โจทย์ หรือประเด็นอะไรบ้าง แต่สิ่งสำคัญคือนโยบายของภาครัฐรวมถึงการผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือในหน่วยงานราชการด้วยกันที่มันเป็นรูปธรรมมากขึ้น มันก็จะทําให้เกิดภาพรวมของการนํานวัตกรรมไปใช้ได้มากขึ้น” ดร.ณัฐพลกล่าวทิ้งท้าย

งานวิจัย ‘ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยวัสดุจากสานจากยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก’ ได้รับรางวัลงานวิจัย Gold Awards ด้าน Area, Society-Community and Policy ในงาน Southern Innovation and Technology Expo 2024 หรือ SITE2024


เรื่อง: ธีรภัทร อรุณรัตน์
ภาพ: แฟ้มภาพ/ ภานิชา ปณัยเวธน์


อ่านต่อ

ม.อ.วิจัย ยกระดับยางพารา สร้างสินค้าจากหวายเทียม วัสดุยางธรรมชาติ เทอร์โมพลาสติก สร้างรายได้ให้ชุมชนในพื้นที่ภาคใต้

วิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทย-จีน ม.สงขลานครินทร์ ไอเดียกรีนต่อยอดยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *