วันนี้ (24 ก.ค. 2567) รายงานคุณภาพอากาศ อ.หาดใหญ่ ณ สถานีวัด dcondo ณ เวลา 08:00 น.พบค่าดัชนีคุณภาพอากาศ 155 US AQI (ระดับสีแดง) คุณภาพอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และพบค่า PM2.5 รายชั่วโมงอยู่ที่ 60.8 ไมโครกรัม ต่อ ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งกำหนดค่าเฉลี่ย PM2.5 รายวันไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 5 มคก./ลบ.ม.
ฝุ่น PM2.5 เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดและโรคทางเดินหายใจ
คำแนะนำการดูแลสุขภาพ ควรสวมหน้ากากอนามัย งดกิจกรรมภายนอกในพื้นที่โล่งแจ้ง ปิดหน้าต่างภายในบ้านเพื่อป้องกันอากาศเสียจากภายนอก และหมั่นเช็คคุณภาพอากาศภายนอกอยู่เสมอสำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจหรือภูมิแพ้
รายการ ‘แลบ้าน แลเมือง’ พูดคุยกับ ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มองว่าจากการตรวจเช็คคุณภาพอากาศตามสถานีวัดอากาศ และ ทิศทางลม พบว่าอัตราการระบายอากาศในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ ค่อนข้างต่ำ ทำให้มลพิษในพื้นที่ทั้งจากการสันดาปของเครื่องยนต์ หรือโรงงานอุตสาหกรรม และการเผาไหม้อื่นสะสมในพื้นที่และไม่เกิดการกระจายตัว
ต่อประเด็นฝุ่นควันจากการเผาไหม้พื้นที่การเกษตรของประเทศอินโดนีเซีย ศ.ดร.พีระพงศ์ เผยว่าหากพิจารณาจากทิศทางลมพบว่าส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของไทย “เพียงเล็กน้อย” และเผยว่าส่วนของประเทศมาเลเซียจะได้รับผลกระทบมากกว่า
อย่างไรก็ตาม จากการพยากรณ์อากาศพบว่าอากาศในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อนข้างแห้ง และมีโอกาสเกิดไฟลุกไหม้เพิ่มขึ้นในอนาคต