ประกวดทุเรียนพื้นบ้าน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปี 2567 พบทุเรียนสายพันธุ์ดี เอกลักษณ์เด่น กว่า 20 สายพันธุ์

24 กรกฎาคม 2567 คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย และสมาคมศิษย์เก่าคณะทรัพยากรธรรมชาติ จัดงานประกวดทุเรียนพื้นบ้าน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปี 2567 ชิงถ้วยประธานพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าอทิตยากรกิตติคุณ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรในภาคใต้ปลูกทุเรียนพื้นบ้าน กระตุ้นให้เกษตรกรพัฒนาทุเรียนพื้นบ้านให้มีคุณภาพ พร้อมทั้งค้นหาทุเรียนพื้นบ้านที่มีรสชาติดี โดดเด่น และประชาสัมพันธ์ทุเรียนพื้นบ้านให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ผลการประกวด มีดังนี้

รางวัลชนะเลิศ:
“สายพันธุ์นากอ”(ภาษามาลายูถิ่น แปลว่า ขนุน) จ.นราธิวาส
พร้อมรับถ้วยประทาน และเงินรางวัล จำนวน 3,000 บาท

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1:
“สายพันธุ์ดุซงคิง” จ.ยะลา
พร้อมรับใบประกาศเกียรติคุณ และเงินรางวัล จำนวน 2,000 บาท

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2:
“สายพันธุ์พิกุลกลิ่น” จ.สงขลา
พร้อมรับใบประกาศเกียรติคุณ และเงินรางวัล จำนวน 1,000 บาท

รางวัลชมเชย: ได้รับเงินรางวัล จำนวน 500 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ ประกอบด้วย

  • “สายพันธุ์ไอ้เรือ” จ.ภูเก็ต
  • “สายพันธุ์ผักกูด” จ.สงขลา
  • “สายพันธุ์ทองลุงศักดิ์” จ.พัทลุง
  • “สายพันธุ์ทองพังลา” อ.นาทวี จ.สงขลา
  • “สายพันธุ์เหลืองนาทวี” อ.นาทวี จ.สงขลา

โดยข้อกำหนดผลผลิตทุเรียนพื้นบ้านที่ส่งเข้าประกวด ต้องไม่ผ่านการบ่มหรือรมควัน ไม่ผ่านการแปรรูป ไม่เคยได้รับรางวัลใดๆ มาก่อน และต้องเป็นของเกษตรกรผู้ส่งเข้าประกวดโดยตรง ทั้งนี้คุณสมบัติเด่นของการประกวด คือ ขนาดของผลผลิต รูปร่าง ความสมบูรณ์ของผล ความหนา-บาง ของเปลือก เนื้อ-รสชาติ สี เมล็ด และความสมบูรณ์ของเนื้อ

ทุเรียนพื้นบ้านรสชาติดีไม่ด้อยกว่าทุเรียนพันธุ์มีหลากหลาย และแต่ละต้นมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว บางสายพันธุ์มีกลิ่นหอมคล้ายดอกไม้ ความมันความเนียนของเนื้อ รสชาติที่มีความหวานเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของทุเรียนพื้นบ้าน นอกจากมีสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมแล้ว วิถีชีวิตของคนสมัยก่อนก็เป็นส่วนสำคัญให้เกิดความหลากหลายของทุเรียนพื้นบ้านอีกด้วย

โพสต์ไว้ที่: News

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *