ในสถานการณ์ที่พื้นที่ภาคใต้เผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมและฝนตกต่อเนื่อง PSU Broadcast ชวนรู้จักโรคที่ควรระวัง ทั้งในคนและสัตว์เลี้ยง จากการพูดคุยกับ นายแพทย์ศุภกฤต ธนาจิระศักดิ์ และ ดร.น.สพ.กฤตธี เดชยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถึง 5 โรคที่ควรระวังช่วงหน้าฝน ระหว่างน้ำท่วมและหลังน้ำลด
หนึ่ง โรคอุจจาระร่วง
นายแพทย์ศุภกฤตกล่าวว่าโรคที่ควรระวังอันดับหนึ่งคือ โรคอุจจาระร่วง สังเกตได้จากอาการถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งต่อวันขึ้นไป สาเหตุส่วนใหญ่ในช่วงน้ำท่วม เกิดจากอาหารการกิน ทั้งจากอุปสรรคในการประกอบอาหารช่วงประสบภัย การรับประทานอาหารกล่องข้ามมื้อ หรือ การใช้น้ำไม่สะอาดทำความสะอาดภาชนะ
คำแนะนำคือ รักษาสุขอนามัยเบื้องต้น ควรรับประทานมื้อต่อมื้อ ไม่ควรเก็บข้ามมื้อ ควรรับประทานให้หมดภายใน 2-4 ชั่วโมง หลังปรุงเสร็จใหม่
ในส่วนของน้ำดื่มแนะนำดื่มน้ำที่เปิดขวดใหม่ ไม่มีกลิ่นหรือสีที่ผิดปกติ หากไม่มั่นใจแนะนำให้เปลี่ยนใช้น้ำเพื่ออุปโภคแทน หากไม่มีน้ำสะอาด ใช้สารส้มแกว่งให้สารตกตะกอน และนำน้ำที่เหลือไปต้มและใช้อุปโภคได้
สอง โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนูที่มาระหว่างน้ำท่วม รวมถึงพื้นดินแฉะที่ปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ติดเชื้อ หากแช่น้ำหรือสัมผัสเชื้อบริเวณดังกล่าวและมีบาดแผล เชื้อโรคจะเข้าสู่ตัวผู้ป่วยได้ สัตว์พาหะนำโรค เช่น หนู โค กระบือ แพะ แกะ สุนัข สุกร เป็นต้น
โรคฉี่หนูมีระยะฟักตัว 1-2 สัปดาห์หลังสัมผัสเชื้อ นายแพทย์ศุภกฤตกล่าวว่าหากแช่น้ำเกิน 8 ชั่วโมง หรือมีบาดแผลและต้องแช่น้ำ ควรกินยาป้องกันโรคฉี่หนู จากการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พบว่าช่วยลดความรุนแรงได้ มีขายตามร้านยาทั่วไป กินเพียงหนึ่งเม็ด
อาการโรคฉี่หนู
มีอาการไข้สูง มีประวัติลุยน้ำ 1-2 อาทิตย์ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อน่องที่ขาจะปวดมาก ไม่มีไอและน้ำมูก ไข้สูงคล้ายกับไข้เลือดออก และอาจมีอาการเบิ้ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อาจมีการถ่ายเหลว ปวดท้อง จนถึงอาการตาแดง
โรคฉี่หนูไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะหากทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยจะมีความรุนแรงมากขึ้น และยิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
โรคฉี่หนูในสัตว์เลี้ยง
ดร.น.สพ.กฤตธี เดชยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่ากรณีสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข หรือแมว หากสัมผัสเชื้อในช่วงน้ำท่วม อาจส่งผลให้ติดโรคฉี่หนูได้เช่นกัน
อาการของโรคฉี่หนูในสัตว์เลี้ยงได้แก่ มีไข้ ไข้สูง อ่อนแรง เบื่ออาหาร มีอาเจียน เลือดออกตามเยื่อเมือก อาการดีซ่าน บางตัวอาจมีอาการไตวายตามมา
ในกรณีของสุนัขที่เป็นสัตว์พาหะนำโรคนั้น จะมีการปล่อยเชื้อแบบเดียวกันกับหนู เช่น หากปัสสาวะลงน้ำท่วมขัง หากมีแผลหรือได้รับสารผ่านเยื่อเมือก ก็จะติดต่อสู่คนได้ จึงห้ามทิ้งสิ่งปฏิกูลของสัตว์เลี้ยงสู่แหล่งน้ำ และควรจัดการอย่างมิดชิด
สาม โรคตาแดง
โรคตาแดงเป็นโรคติดต่อที่ระบาดได้ง่ายจากการสัมผัส หรือใช้สิ่งของร่วมกัน รวมถึงติดจากน้ำที่ไม่สะอาดหรือปนเปื้อน หากลุยน้ำ สัมผัสน้ำ ควรล้างมือให้สะอาด อย่านำมือขยี้ตา หากมีอาการสิ่งสกปรกเข้าตา นำน้าสะอาดล้าง ให้น้ำไหลผ่านตา
วิธีการดูแล
หากมีอาการเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล มีขี้ตา ไม่ควรนำมือขยี้ตา ควรพักสายตา ใช้ยาหยอดตา หากไม่มีควรแยกใช้สิ่งของร่วมกับคนอื่น
สี่ ไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ พบบ่อยช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว มีอาการตั้งแต่ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ รวมถึงเบื่ออาหาร
การรักษาไข้หวัดใหญ่หากไม่มีอาการรุนแรงสามารถรักษาตามอาการได้ ในกรณีเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วมหรืออยู่ในศูนย์พักพิง หากมีไอ น้ำมูก โรคทางเดินหายใจ ควรใส่แมสป้องกันแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจต้องใช้ยาต้านไวรัสในการรักษาและพบแพทย์เพื่อติดตามการรักษาต่อไป
ห้า โรคน้ำกัดเท้า
โรคน้ำกัดเท้ามักเกิดจากการแช่น้ำเป็นเวลานาน ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณเท้าเปื่อยลอก ช่วงแรกจะมีอาการระคายเคือง คัน แสบ เท้าลอก โรคน้ำกัดเท้ายังเป็นต้นเหตุให้เกิดฉี่หนู เพราะน้ำจะเข้าและสัมผัสเชื้อได้
หากติดเชื้อแบคทีเรียจะมีอาการบวมแดง มีหนอง ปวดบริเวณรอยแผล ควรล้างด้วยน้ำเกลือและทาแผลด้วยยาฆาเชื้อ กรณีติดเชื้อรุนแรงหรือผู้ป่วยเบาหวานควรพบแพทย์
การทำรองเท้าบูธด้วยตนเอง
นายแพทย์ศุภกฤตแนะนำวิธีการทำรองเท้าบูธด้วยตนเองดังนี้
- นำถุงดำสวมเท้า สูงถึงต้นขา
- นำถุงเท้ายาวสวมทับให้ถุงดำแนบเท้า
- ใช้เชือกผูกมัดปลายถุงทำเหนือเข่า และใส่รองเท้าผ้าใบตามปกติ
แหล่งข้อมูลประกอบเพิ่มเติม
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย